“….ยุคท่านทวี สอดส่อง ยิ่งเหลื่อมล่ำไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแต่ประการใด กลับหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร , นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.๑๐๑ แบบประวัตินักโทษ จำนวน ๔ หน้า (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓) ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง ๔ แสนราย นช.ทักษิณ ไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถามยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใดจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)…”
เมื่อ 20 ธันวาคม 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่องขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำและขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์
โดยหนังสือระบุว่า ด้วยข้าพเจ้า นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีทุจริตซึ่งขณะนี้ไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ จนถึงปัจจุบันไม่มีอาการเจ็บป่วยจริง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ นั่งดื่มไวน์ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑) และมีข่าวว่าไม่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลานั้น
บัดนี้ครบกำหนดเวลา ๑๒๐ วัน ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๖ หากที่ผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังเกินกว่า ๑๒๐ วัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๗ (๓) (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒) ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
ข้าพเจ้าขอคัดค้านและให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
๑. ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” และพันธกิจ ข้อ ๓ “เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม” แต่ยุคท่านทวี สอดส่อง ยิ่งเหลื่อมล่ำไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายแต่ประการใด กลับหย่อนยานและเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร
๒. นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหมายเลข ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ ไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท.๑๐๑ แบบประวัตินักโทษ จำนวน ๔ หน้า (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓) ในฐานข้อมูลแม้แต่บรรทัดเดียว ไม่ลงรายละเอียดเหมือนนักโทษทั้ง ๔ แสนราย นช.ทักษิณ ไม่ได้ให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็ไม่กล้าถามยังไม่ได้สอบประวัติ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนแต่ประการใดจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าพนักงานทะเบียนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)
๓. ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ทำรายงานเท็จและช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไม่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำแต่อ้างว่าไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ (ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน)
๔. ขอสำเนารายชื่อพัศดีทั้งหมดพร้อมลายเซ็นและภาพถ่ายตามที่นายนัทที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งได้ให้ถ้อยคำกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ ว่ามีภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษที่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจทุก ๒ ชั่วโมง ขอให้เปิดเผยภาพถ่ายและให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำเพราะมีการทำรายงานเท็จมาตั้งแต่ต้น
๕. ขอให้เปิดเผยรายงานกรมราชทัณฑ์ที่รายงานถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษพักรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำครบ ๑๒๐ วันเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนทราบด้วย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดปฏิบัติตามกฎหมายและเปิดเผยข้อมูลภายใน ๗ วัน อย่าได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หากได้ผลประการใดกรุณาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบภายใน ๑๕ วัน จะขอบคุณยิ่ง
โดย นายวัชระ เพชรทอง ได้แนบเอกสาร ส่งมาให้ด้วยคือ ๑. สำเนาภาพถ่าย นช.ทักษิณ ชินวัตร แข็งแรงสุขภาพดี นั่งดื่มไวน์ จำนวน ๑ ใบ ๒. กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓
๓. แบบฟอร์ม ร.ท.๑๐๑ จำนวน ๑ ชุด
และเวลา 11.55 น.นายวัชระได้ไปส่งหนังสือด่วนที่สุดเรื่องเดียวกันนี้ให้ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่กรมราชทัณฑ์ อ.เมือง จ.นนทบุรี เลขที่รับหนังสือ 94476