บริษัทต่างชาติพาเหรดเข้าไปลงทุนในจีน เพราะเชื่อว่าที่นี่คืออนาคตของโลกยุคใหม่ ขณะที่จีนโชว์ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เปิดรอบปฐมฤกษ์เรือสำราญขนาดใหญ่ยาวกว่า 300 เมตร ส่งเครื่องบินโดยสาร C919 สู่บริการเชิงพาณิชย์ ปล่อยเรือดำน้ำเข้าถึงร่องมหาสมุทรลึกที่สุด
ในปี 2023 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญปัญหา แต่กลับพบแรงขับเคลื่อนที่น่าตื่นตาตื่นใจ เรือสำราญขนาดใหญ่ที่จีนสร้างขึ้นเองออกเดินทางระยะทดลองสำเร็จ เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ รุ่นซี919 (C919) เข้าสู่การบริการเชิงพาณิชย์ ยานอวกาศเสินโจวหลายลำยังคงทำภารกิจในอวกาศ เรือดำน้ำแบบมีมนุษย์ควบคุมในทะเลลึกเฟิ่นโต้วเจ่อ (Fendouzhe) เข้าถึงร่องมหาสมุทรลึกที่สุด ผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบและผลิตในจีน โดยเฉพาะแบรนด์ในกระแส ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก โทรศัพท์มือถือที่จีนผลิตหลายรุ่นล่าสุดประสบความสำเร็จในตลาด ยานยนต์พลังงานใหม่ แบตเตอรี่ลิเธียม และผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นตัวพิสูจน์ใหม่ของความสามารถทางการผลิตของจีน โดยทุกที่ทั่วประเทศ มีความสำเร็จใหม่เกิดขึ้นด้วยความมุ่งมั่นพากเพียร มีผลงานการสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
เรือสำราญ ‘อะดอรา แมจิก ซิตี’ ที่จีนผลิตเองลำแรก เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินเรือเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) หลังจากการเดินทางระยะ 1,119 ไมล์ทะเล เป็นเวลาเจ็ดวันหกคืน บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 3,000 คน เดินทางออกจากท่าเรือสำราญนานาชาติเซี่ยงไฮ้ อู๋ซงโข่ว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. แวะพักที่ท่าเรือในเมืองซอกวีโพบนเกาะเชจูของเกาหลีใต้ รวมถึงเมืองนากะซากิและฟุกุโอกะของญี่ปุ่น ก่อนเดินทางกลับสู่ท่าเรืออู๋ซงโข่ว บริษัทการต่อเรือแห่งประเทศจีน (CSSC) และบริษัท เซี่ยงไฮ้ ว่ายเกาเฉียว ชิปบิลดิง จำกัด (SWS) ผู้ผลิตเรือลำนี้ ระบุว่าเรือสำราญยาว 323.6 เมตร หนักรวม 135,500 ตัน สามารถรองรับผู้โดยสารถึง 5,246 คน มีห้องพักรวม 2,125 ห้อง ความสูง 16 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยสาธารณะและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจรวม 40,000 ตารางเมตร
เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) สื่อภาษาอังกฤษในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน รายงานว่าจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับบริษัทข้ามชาติในปี 2024 โดยบรรดาผู้บริหารมองหาโอกาสจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภค รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลจากเบรน แอนด์ คอนปานี (Bain & Company) บริษัทที่ปรึกษาการจัดการระดับโลก ระบุว่าจีนมีส่วนสร้างรายได้ทั่วโลกของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สุดจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ จำนวน 200 แห่ง ราวร้อยละ 15 ในปี 2022
บรูโน แลนเนส หุ้นส่วนจากเซี่ยงไฮ้ของบริษัทข้างต้น กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการมองจีนในระยะยาวมากกว่าเพ่งเล็งที่ความผันผวนในระยะสั้น โดยเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสร้างรายได้ทั่วโลกของบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจในจีนเพิ่มขึ้น
อัลเฟรโด มอนตูฟา-เฮลู หัวหน้าศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจแห่งประเทศจีน สังกัดเดอะ คอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด (The Conference Board) คลังสมองที่ไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก เผยว่าเหล่านักธุรกิจชั้นนำพูดถึงความจำเป็นของการรักษาการดำเนินงานในจีนเพิ่มขึ้น เพราะจีนมีความสำคัญในฐานะตลาดปลายทางของสินค้าและบริการของพวกเขา รวมถึงในฐานะจุดสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก เนื่องจากมีระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมที่คุ้มทุนสูง จีนจึงมีความสำคัญมากต่อบรรดาบริษัทข้ามชาติ โดยบริษัทที่มีการเตรียมการเพียงพอ พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ประเมินความเสี่ยงตามจริง และดำเนินกลยุทธ์การแข่งขันที่ดี ย่อมสามารถคว้าโอกาสจากตลาดจีน
การประชุมโต๊ะกลมทางเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน (China Economic Roundtable) ครั้งที่ 3 ซึ่งถือเป็นเวทีหารือของสื่อมวลชนทั้งหมดที่จัดโดยสำนักข่าวซินหัว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบริษัทต่างชาติต่อเศรษฐกิจจีน พิสูจน์ได้จากยอดจัดตั้งบริษัทใหม่ของต่างชาติทั่วประเทศจีน ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายนของปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าจีนยังคงมีสภาวการณ์อันดีที่เกื้อหนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีส่วนส่งเสริมการเติบโตทั่วโลกราวหนึ่งในสาม และยังคงเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2023
เมื่อมองไปข้างหน้าตลอดปี 2024 จีนยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีโลก ท่ามกลางวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกุร่นทั่วโลก