นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ในสังกัดกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ห้องกักตรวจคนเข้าเมือง และศูนย์ซักถามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ได้เข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำกลางสงขลาภายใต้โครงการข้างต้น โดยได้รับทราบข้อเท็จจริงและสภาพปัญหา สรุปได้ดังนี้
(1) สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง พบผู้ต้องขังสูงอายุซึ่งเป็นผู้ป่วยอยู่ระหว่างเตรียมออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยและถูกใส่กุญแจเท้าที่บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้าง
(2) พื้นที่ภายในเรือนจำ พบว่าเรือนจำสงขลารองรับผู้ต้องขังที่ความจุ 1.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ที่ความจุ 1.6 ตารางเมตรต่อคน และต่ำกว่ามาตรฐานสากลที่ความจุ 2.25 ตารางเมตรต่อคน นอกจากนี้ ยังพบว่า เรือนจำกลางสงขลาไม่มีห้องสำหรับปรึกษาคดีโดยเฉพาะเพื่อให้บริการแก่ผู้ต้องขังและทนายความ
(3) อุปสรรคในการดูแลผู้ต้องขัง พบว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสงขลาประสงค์ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขังให้ทันกำหนดระยะเวลา และให้เพิ่มงบประมาณค่าอาหารผู้ต้องขังเพื่อส่งเสริมโภชนาการและค่าครองชีพในปัจจุบัน
ในการนี้ กสม. ได้พิจารณาหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) มุ่งหมายให้ผู้ต้องขังทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีอันมีติดตัวมาแต่กำเนิด และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ต้องไม่ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อีกทั้ง ระบบราชทัณฑ์ต้องไม่มุ่งให้เกิดความทุกข์ทรมานเพิ่มเติมสำหรับผู้ต้องขัง เว้นแต่มีเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้ง ยังมุ่งหมายให้บุคคลนั้นสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยสามารถดำรงชีวิตและพึ่งตนเอง นอกจากนี้ ยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพและขนาดของที่คุมขัง กำหนดให้ผู้ต้องขังได้รับอาหารอันมีประโยชน์และเพียงพอต่อสุขภาพ รวมถึงกำหนดให้ผู้ต้องขังได้ปรึกษาหารือและสื่อสารกับทนายความของตนอย่างเป็นส่วนตัว โดยไม่ชักช้าและไม่มีการลอบฟัง อันเป็นการสื่อสารที่เป็นความลับโดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21 ยังบัญญัติห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังเป็นหลักทั่วไป โดยมีข้อยกเว้น เช่น ผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ อย่างไรก็ดีต้องใช้เท่าที่จำเป็นสมเหตุผลแก่การควบคุม และในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้นอันสอดคล้องตามข้อกำหนดแมนเดลา
กสม. เห็นว่า การดูแลและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศได้ติดตามการดำเนินการของไทยอย่างต่อเนื่อง อันอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง กับประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการที่ประเทศไทยกำลังสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี 2568 – 2570
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อมอบหมายกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
ในการดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ ควรให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยอย่างใกล้ชิดแทนการใช้เครื่องพันธนาการ ซึ่งเป็นมาตรการที่เพียงพอและเหมาะสมแก่กรณี ขณะที่เรือนจำกลางสงขลาควรเพิ่มพื้นที่ห้องควบคุมให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล โดยการบริหารจัดการในทางกายภาพ เช่น การกระจายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำอื่น และจัดห้องทนายความเพื่อให้ผู้ต้องขังปรึกษาหารือกับทนายความของตนได้เป็นการเฉพาะและเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกำหนดเวลาไม่ให้ค้างจ่าย อีกทั้ง พิจารณาค่าอาหารผู้ต้องขังให้เหมาะสมกับการส่งเสริมโภชนาการและค่าครองชีพในปัจจุบันด้วย