นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ 5 ชาติอย่างเป็นทางการประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือเป็นความสำเร็จในการขยายประเทศสมาชิกครั้งประวัติศาสตร์ โดยได้หลอมรวมพลังใหม่ๆเข้ามาเพื่อความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา เป็นหนึ่งในมาตรการทางการทูตที่จีนมีความภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับจัดระเบียบโลกใหม่
จากจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2009 ด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ประกอบด้วย Brazil (B) Russia (R) India (I) และ China (C) เรียกตัวเองว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (Emerging Market) ต่อมาได้เปิดรับ South Africa หรือ “แอฟริกาใต้” เข้าเป็นสมาชิก BRIC ซึ่งเป็นการเติมตัว S (South Africa) ต่อท้าย เป็น BRICS ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 10 ประเทศ รวมจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประชากรโลก มีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ BRICS ได้แซงหน้ากลุ่มจี7 เรียบร้อยแล้ว
BRICS ได้แสดงเจตนารมณ์การขยายตัวขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เริ่มจาก “อิหร่าน” ซึ่งมีก๊าซสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ได้สมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดความกังวล เนื่องจากรัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกชั้นนำของ BRICS กำลังใช้องค์กรนี้เพื่อต่อต้านอำนาจของตะวันตกที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในวงกว้างต่อรัสเซีย เช่นเดียวกับ ซาอุดีอาระเบียที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นความล้มเหลวของนโยบาย “น้ำมันเพื่อความมั่นคง” ของวอชิงตัน ที่พยายามหว่านล้อมแกมบีบบังคับ และเจตนาที่จะแทรกแซงกิจการตะวันออกกลางให้ผลิตน้ำมันตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา ทำให้ซาอุดิอาระเบียมีความปรารถนาที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ขณะที่ แอลจีเรีย บาห์เรน อินโดนีเซีย ก็สนใจเข้าเป็นสมาชิก โดยทุกประเทศต้องการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับชำระสินค้านำเข้าจากสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์
ในอนาคต พวกเขาอาจสร้างสกุลเงินชนิดใหม่ขึ้นมาใช้ร่วมกันสำหรับการชำระด้านการค้าระหว่างประเทศ หรืออาจเป็นเงินสกุลคริปโตเคอร์เรนซีก็เป็นได้ กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่หลายประเทศต่างสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ