วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนเศรษฐกิจสูงวัยในจีน โอกาสผู้ประกอบการไทย

Related Posts

เศรษฐกิจสูงวัยในจีน โอกาสผู้ประกอบการไทย

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจผู้สูงวัยในจีนได้ขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ข้อมูลของ China Tourism Academy (中国旅游研究院) ระบุว่าในปี 2564 ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี มีจำนวนการเดินทางทั้งหมด 902 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 27.8 โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในตลาดการท่องเที่ยวของประเทศจีน และความต้องการยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

เนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มเรื่อย ๆ ในขณะนี้  จึงเป็นสาเหตุให้เกิดช่องทางทางธุรกิจใหม่ในตลาดของผู้บริโภคที่เรียกว่า  “เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver economy)” ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจและรูปแบบการบริโภคที่สนองความต้องการและสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ

ถึงแม้ว่าประชากรผู้สูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน เพิ่มภาระเงินบำนาญ รวมทั้งสร้างแรงกดดันต่อสังคมในแง่ของงบประมาณการรักษาพยาบาล เศรษฐกิจ และโครงสร้างประชากรในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน ปรากฏการณ์นี้ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ

จากข้อมูลจาก iiMedia Research พบว่า ในปี 2565 ตลาดอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุของจีนพุ่งสูงถึง 10.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 51.5 ล้านล้านบาท) ซึ่งโตขึ้นร้อยละ 16.7 หากเทียบกับปีก่อนหน้า และจำนวนประชากรสูงวัยของจีนยังคงมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุของจีนก็มีแนวโน้มการพัฒนาและเติบโตในอนาคต

อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุมุ่งเน้นไปที่ปัจจัย 3 ประการ คือ อสังหาริมทรัพย์การดูแลผู้สูงอายุและสถาบันดูแลผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมการดูแลทางการแพทย์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานพยาบาล และ อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุในระดับมืออาชีพ การศึกษาออนไลน์ สังคม และความบันเทิงสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การท่องเที่ยวและกีฬา

ในปี 2553 บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ China Vanke (万科) และ China Poly  (保利) ได้เข้าสู่อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 30 แห่งในจีนได้วางแผนในด้านการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบริษัทอินเทอร์เน็ตชั้นนำถึง 4 แห่งที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุข้ามพรมแดน ได้แก่ Baidu (百度) Alibaba (阿里巴巴) Tencent (腾讯) และ JD.com (京东) โดยขยายแผนธุรกิจเพิ่มในอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึง Didi (滴滴) Meituan (美团) Hello (哈啰) หรือบริษัทรถยนต์อย่าง Tesla (特斯拉) Ideal (理想) และ BYD (比亚迪) ก็มีความกระตือรือร้นในการเข้าสู่ตลาดประกันภัยไม่แพ้กัน แสดงให้เห็นว่า ตลาดการดูแลผู้สูงอายุกำลังเป็นกระแสนิยม

อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การดูแลรักษาทางการแพทย์ และอาหารทางการแพทย์พิเศษของจีน ปี 2566-2567

เนื่องจากกลุ่มผู้สูงวัยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น และยังเป็นกลุ่มที่นิยมบริโภคเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการดูแลรักษาทางการแพทย์จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายของผู้สูงอายุค่อย ๆ เสื่อมสภาพ เช่น การทำงานของระบบย่อยอาหารลดลง ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนเพื่อรักษาสุขภาพที่ดี ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ชนิดพิเศษที่สามารถให้โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ และช่วยเสริมสารอาหารอื่น ๆ ตามที่ผู้สูงอายุต้องการในแต่ละวันจึงกลายเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์การรักษาสุขภาพของผู้สูงวัยได้อย่างดีเยี่ยม

ในช่วงปี 2557 ถึง 2565 ขนาดตลาดทั่วโลกของผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ชนิดพิเศษเพิ่มขึ้นจาก 58.3 พันล้านหยวน (ประมาณ 2.915 แสนล้านบาท) เป็น 89.64 พันล้านหยวน (ประมาณ 4.482 แสนล้านบาท) ซึ่งคาดว่าในปี 2570 จะสูงถึง 1.11 แสนล้านหยวน (ประมาณ 5.553 แสนล้านบาท) โดยในขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุของประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ชนิดพิเศษก็กลายเป็นทะเลสีน้ำเงิน (Blue ocean) แห่งใหม่ในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ และมีท่าทีว่าขนาดของตลาดจะขยายออกไปอีกเรื่อย ๆ

ในส่วนของประเทศจีน จากการที่ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพในประเทศจีนจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ iiMedia Research แสดงให้เห็นว่าขนาดตลาดของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพของจีนในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 2.989 แสนล้านหยวน (ประมาณ1.494 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าสูงถึง 4.237 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.118 ล้านล้านบาท) หากมองในระยะยาว เมื่อผู้สูงวัยที่ตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคเพื่อสุขภาพมีจำนวนมากขึ้น “ผู้สูงวัย” จะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์พิเศษ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมนี้

กระแส “อินเทอร์เน็ต + การจัดส่งยา” ซึ่งเป็นการสั่งซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนรูปแบบระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการยา หากนับตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2565 ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซด้านเภสัชกรรมของจีนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่อัตราการเติบโตมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2565 ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซด้านเภสัชกรรมอยู่ที่ 2.486 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.243 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2569 จะเกิน 3.4 แสนล้านหยวนต่อปี (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) ด้วยการเปิดเสรีการขายยาที่สามารถปรึกษาแพทย์และสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ได้ จึงสร้างโอกาสในตลาดอีคอมเมิร์ซด้านเภสัชกรรมอย่างมหาศาล และขนาดของตลาดก็ยังคงมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคต

ความต้องการด้านความสุขและการท่องเที่ยวเยี่ยมชมธรรมชาติของผู้สูงวัย

การดูแลสุขภาพ การชอปปิงออนไลน์ และการท่องเที่ยวเป็น 3 ตลาดหลักของกลุ่มผู้สูงวัย อ้างอิงจากการสำรวจของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติระหว่างปี 2559 ถึง 2563 การบริโภควัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุในประเทศจีนเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 23 และมีมูลค่าเกิน 7 แสนล้านหยวน (ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2564

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจผู้สูงวัยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลของ China Tourism Academy (中国旅游研究院) ระบุว่าในปี 2564 ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี มีจำนวนการเดินทางทั้งหมด 902 ล้านครั้ง คิดเป็นร้อยละ 27.8 โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในตลาดการท่องเที่ยวของประเทศจีน และความต้องการยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากผู้สูงวัยชอบเข้าร่วมกลุ่มทัวร์เยี่ยมชมธรรมชาติและนิยมเที่ยวชมในชนบทหรือเมืองขนาดเล็ก โดยปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้การท่องเที่ยวตามชนบทได้รับความนิยมได้แก่ “สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ” “วัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีลักษณะเฉพาะ” และ “อาหารที่มีเอกลักษณ์” คิดเป็นร้อยละ 65.5 ร้อยละ 56.7 และร้อยละ  56.6 ตามลำดับ

การให้ความรักกับสัตว์เลี้ยง ผู้อาวุโสกลายเป็นแกนนำของเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยง

ประชากรในวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัว หรือมีลูกหลานแต่แยกตัวออกไป เมื่ออาศัยอยู่ตามลำพังจะเริ่มรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว  ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงมักนิยมเลี้ยงสัตว์ และสัตว์เลี้ยงมักถูกมองว่าเป็น “สมาชิกใหม่ในครอบครัว” เพื่อเติมเต็มสภาพจิตใจ

เมื่อสัตว์เลี้ยงค่อยๆ กลายเป็น “ความต้องการทางอารมณ์” ความต้องการซื้อและเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็มีปริมาณมากขึ้นตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงของจีนในปี 2565 สูงถึง 4.936 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.468 ล้านล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจากการคาดการณ์ ขนาดตลาดอาจสูงถึง 8.114 แสนล้านหยวน (ประมาณ 4.057  ล้านล้านหยวน) ในปี 2568

เนื่องจากผู้คนเริ่มมองสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ประกอบกับความต้องการสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มจำนวนขึ้น แนวโน้มดังกล่าวจึงส่งเสริมการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง การรักษาพยาบาล และด้านอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสัตว์เลี้ยงของจีนจะเติบโตไปเรื่อย ๆ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุครอบคลุมและเน้นเกี่ยวกับการสนอง “ความต้องการของผู้สูงอายุ” ซึ่งมีค่อนข้างมาก การบริการระดับมืออาชีพของสถาบันดูแลผู้สูงอายุจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาด้านการดูแลผู้สูงอายุดังกล่าว ดังนั้นความต้องการของตลาดบริการดูแลผู้สูงอายุจึงขยายตัวขึ้นตามลำดับ และมิตรภาพของสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยให้ผู้สูงวัยคลายความเหงาได้ เนื่องจากอายุเฉลี่ยของประชากรที่มากขึ้นและผู้สูงอายุในปัจจุบันเริ่มเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ  จึงคาดว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มจำนวนขึ้น ลูกหลานไม่ควรดูแลเพียงแค่ความต้องการทางกายภาพของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ควรให้ความสนใจกับความต้องการด้านจิตใจของพวกเขาด้วย ทำให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาความสนใจที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสันทนาการ มีความเพลิดเพลินในการใช้ชีวิต และเข้าสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “การสูงวัยอย่างมีความสุข”

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุของหลาย ๆ ประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น ประเทศจีนเองถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหาสังคมผู้สูงอายุ แต่มีการเตรียมการและแก้ปัญหาได้ดี โดยมีบริการดูแลทางการแพทย์ อาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการ และการซื้อยาและปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ เมื่อผู้สูงอายุมีการบริการพื้นฐานด้านสุขภาพอย่างครบถ้วน จึงได้มีความต้องการทางด้านสังคมและต้องการเติมความสุขผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เลี้ยงสัตว์ และการท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนผู้สูงวัยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ ประกอบกับชาวจีนส่วนใหญ่รู้จักอาหารและวัฒนธรรมของไทย และชื่นชอบประเทศไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศจีน โดยสามารถจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุในจีนที่มีทั้งเวลาและเงิน เช่น จัดกิจกรรมเกี่ยวกับความเป็นไทยให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมได้ หรือจัดทัวร์ท่องเที่ยวมายังประเทศไทยสำหรับผู้สูงอายุด้วยบริการแบบครอบคลุมที่สามารถตอบสนองปัจจัยต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้เลือกจุดหมายในการท่องเที่ยวได้ ทั้งสภาพแวดล้อมสวยงาม วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อาหารที่อร่อยและชาวจีนคุ้นเคย และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางธุรกิจที่มีตลาดขนาดใหญ่และน่าสนใจ

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts