วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน'การค้าขั้วใหม่' ของจีน สั่นคลอนอเมริกาในเวทีโลก

Related Posts

‘การค้าขั้วใหม่’ ของจีน สั่นคลอนอเมริกาในเวทีโลก

แม้สหรัฐฯ จะออกรายงานปฏิเสธคุณูปการของจีนในระบบการค้าพหุภาคีและเศรษฐกิจโลก หลังจากจีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) มานานกว่าสองทศวรรษ แต่ดูเหมือนว่ารายงานดังกล่าวจะไม่ได้เสียงตอบรับจากกระแสโลก

ในทางกลับกัน กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้ออกมาแสดงการคัดค้านรายงานของสหรัฐฯ ชิ้นนี้ พร้อมระบุว่าจีนในฐานะสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดขององค์การฯ สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีอย่างแน่วแน่ ปฏิบัติตามระบบพหุภาคีอย่างแข็งขัน และดำเนินการตามพันธกิจขององค์การฯ อย่างจริงจังมาโดยตลอด

“จีนพัฒนาสถาบันและระบบกฎหมายของเศรษฐกิจตลาดตามสภาพการณ์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขยายการเปิดกว้างเชิงสถาบันในระดับสูง มีส่วนร่วมในการปฏิรูปขององค์การฯ อย่างเต็มที่และลึกซึ้ง และช่วยเหลือสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา เพื่อบูรณาการเข้าสู่ระบบการค้าพหุพาคี” กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุ

การเติบโตของกลุ่มเศรษฐกิจ Global South กำลังพัฒนาในซีกโลกใต้เป็นที่หมายตาของทั่วโลก กลุ่มนี้มีทั้งประเทศเกิดใหม่ในกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้+5) กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึงอาเซียน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีทั้งตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว โดยจีนเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ BRI มากว่าทศวรรษ นั่นทำให้สกุลเงินหยวนเริ่มเป็นสกุลเงินท้องถิ่นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการพึ่งพาสินค้าและบริการ รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกัน

ขณะที่กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งตกลงร่วมส่งเสริมความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ 1.สาขาความเชื่อมโยง 2.สาขาการพัฒนาศักยภาพการผลิต 3.สาขาความร่วมมือทรัพยากรน้ำ 4.สาขาการเกษตร 5.สาขาการลดความยากจน และ 6.สาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน กำลังเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง โดยทั้ง 6 ประเทศต่างร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงซึ่งมีชะตาชีวิตร่วมกัน  และเพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือ LMC ให้เป็น “แบรนด์เนม” ของประชาคมเอเชีย เป็นเวทีสำคัญของการสร้างสรรค์โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก เรียนรู้จุดเด่นของกันและกัน สร้างการประสานและแลกเปลี่ยน ยกระดับความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เติบโตอย่างเท่าเทียมกัน

เช่นเดียวกับกรอบความร่วมมืออาเซียน-จีน ได้ยกระดับความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานและความร่วมมือระดับภูมิภาค อาทิ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นโครงการเรือธงในกัมพูชาภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ได้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับโรงงานมากถึง 175 แห่ง จีนและอาเซียนยังได้มีการรับรองเอกสารต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับอาเซียน, แผนปฏิบัติการว่าด้วยการพัฒนาการเกษตรสีเขียวจีน-อาเซียน (พ.ศ. 2566-2570), โครงการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านอีคอมเมิร์ซ และความคิดริเริ่มในการร่วมกันดำเนินโครงการส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน-อาเซียน

มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง 9.753 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และพุ่งขึ้น 120% จากระดับของปี 2556 ขณะที่เม็ดเงินลงทุนสะสมระหว่างจีนกับอาเซียน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม มีมูลค่าสูงกว่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์ และจีนได้จัดตั้งบริษัทมากกว่า 6,500 แห่งที่มีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน ความสัมพันธ์อันดีตลอดทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้อาเซียนก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของจีนในปี 2563 แซงหน้าสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้เชื่อมโลกทั้งใบให้ขับเคลื่อนไปพร้อมกับจีน โดยจีนพยายามสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ในเอเชีย ด้วยการสนับสนุนเงินทุนให้กับกลุ่มประเทศพันธมิตร จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งอาเซียน หรือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้กับประเทศในเอเชียพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้ามารองรับ OBOR ในขณะเดียวกันจีนก็ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าประเทศ ด้วยการผลิตแรงงานชั้นดีขึ้นมารองรับ  เพื่อรักษาอัตราการเติบโตในระยะยาว มีการจัดตั้งกลุ่มการค้าใหม่ๆที่มีอิทธิพลต่อการค้าโลกอย่างต่อเนื่อง

สกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือเงินหยวนของจีน กลายเป็นสกุลเงินเติบโตเร็วที่สุด ครองส่วนแบ่งสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.06 เมื่อเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 3.47 ในเดือนสิงหาคมปี 2566 ติดกลุ่มท็อป 5 ในฐานะสกุลเงินที่ถูกใช้งานทั่วโลกมากที่สุด ค่านิยมของเงินหยวนที่ขยายไปในโลกกว้าง โดยเฉพาะการค้าขายผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” การซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินหยวนเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้น เกิดความสะดวกสบายและมีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าการใช้ดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งหน้าสู่การละทิ้งการพึ่งพิงดอลลาร์ แม้กับพวกที่เป็นมิตรกับสหรัฐ กลายเป็นแรงสั่นคลอนที่ยากต่อการควบคุม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts