การก่อสร้างถนนพระราม 2 ดำเนินมาอย่างยาวนาน สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมาก ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ทำมาค้าขาย 2 ข้างทาง และผู้สัญจรผ่านไปมา ไม่เฉพาะแต่ทำให้รถติด แต่อุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตก็เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนผู้คนหวาดผวาที่จะสัญจรผ่านเส้นทางนี้
ถึงเวลานี้ บนถนนพระราม 2 ยังมีการก่อสร้างอีก 3 โครงการ ทั้งหมดเป็นการก่อสร้างเหนือระดับพื้นดิน ระยะทางรวม 43.4 กม. ประกอบด้วยทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กม. และมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กม. ทั้งทางยกระดับและมอเตอร์เวย์เป็นของกรมทางหลวง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้รับผิดชอบให้คำมั่นสัญญาว่าทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะเปิดใช้ได้ในปี 2568
แต่อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ยังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เพราะยังจะมีการขยายมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 จากบ้านแพ้วไปจนถึงแยกวังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะทาง 47.4 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ก็ไม่รู้ว่าจะทำให้รถติดอย่างสาหัสสากรรจ์อีกหรือไม่
เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างถนนพระราม 2 กับการก่อสร้างถนนบางนา-ตราด (ปัจจุบันชื่อถนนเทพรัตน) ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญสู่ภาคตะวันออก เป็นของกรมทางหลวง พบว่าการก่อสร้างถนนเทพรัตนไม่ยาวนานยืดเยื้อดังเช่นถนนพระราม 2 ทั้งๆ ที่มีระยะเวลาเริ่มก่อสร้าง ปัญหาคุณภาพดิน รูปแบบถนน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่แตกต่างจากถนนพระราม 2 เลย
กล่าวคือถนนเทพรัตนเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2510 เปิดใช้ครั้งแรกในปี 2512 เป็นถนน 2 เลน ในขณะที่ถนนพระราม 2 เริ่มก่อสร้างในปี 2513 เปิดใช้ในปี 2516 เป็นถนน 2 เลนเช่นเดียวกัน ถนนทั้ง 2 เส้นนี้ ได้รับการขยายเป็นถนนหลายเลน แต่การขยายถนนเทพรัตนไม่ยืดเยื้อ และไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้พี่น้องประชาชนเหมือนกับถนนพระราม 2
ถนนเทพรัตนมีดินรองถนนเป็นดินอ่อนเช่นเดียวกับถนนพระราม 2 แต่ไม่ได้ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ยืดเยื้อ
บนถนนเทพรัตนมีทางด่วนบูรพาวิถี (ทางด่วนกรุงเทพฯ-ชลบุรี) ของการทางพิเศษฯ ระยะทาง 55 กม. เช่นเดียวกับบนถนนพระราม 2 ที่มีการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์ ระยะทางรวม 43.4 กม. ในระหว่างการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีในช่วงปี 2538-2543 ไม่ได้ทำให้รถติดหนักเหมือนการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 การก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีดำเนินไปได้อย่างอย่างรวดเร็ว สามารถทยอยเปิดใช้บางส่วนได้ตั้งแต่ปี 2541 ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะในระหว่างการก่อสร้างมีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ -ชลบุรี แล้ว ทำให้สามารถใช้มอเตอร์เวย์เป็นเส้นทางหลีกเลี่ยงการใช้ถนนเทพรัตนได้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างถนนเทพรัตน์พร้อมทั้งทางด่วนบูรพาวิถี และถนนพระราม 2 พร้อมทั้งทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์ เป็นหน่วยงานเดียวกันคือกรมทางหลวง และการทางพิเศษฯ กล่าวคือในส่วนของถนนเทพรัตน กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างถนนเทพรัตน การทางพิเศษฯ ก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถี ในส่วนของถนนพระราม 2 กรมทางหลวงก่อสร้างถนนพระราม 2 ทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย และมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ส่วนการทางพิเศษฯ ก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก
มีข้อน่าสังเกตคือถนนลอยฟ้าบนถนนเทพรัตนหรือทางด่วนบูรพาวิถี การทางพิเศษฯ เป็นผู้ก่อสร้างเพียงหน่วยงานเดียว ในขณะที่ถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 มีทั้งการทางพิเศษฯ และกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง กล่าวคือทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก การทางพิเศษฯ เป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย และมอเตอร์เวย์หมายเลข 82 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง
จากการเปรียบเทียบการก่อสร้างถนนเทพรัตนกับถนนพระราม 2 พบว่าสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างถนนพระราม 2 ล่าช้ายืดเยื้อ มีดังนี้
(1) การขยายถนนพระราม 2 บางช่วง กับการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมาก ส่งผลให้รถติด ต่างกับการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีบนถนนเทพรัตน ที่ก่อสร้างหลังจากมีการขยายถนนเทพรัตนเสร็จแล้ว
(2) การขยายถนนพระราม 2 บางช่วง กับการก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 เพิ่งมาดำเนินการในช่วงที่มีปริมาณรถบนถนนพระราม 2 สูงมากแล้ว ต่างกับการขยายถนนเทพรัตนและการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถี ที่ได้ดำเนินการมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ในขณะที่มีรถไม่มากนัก
(3) ในขณะขยายถนนพระราม 2 พร้อมทั้งก่อสร้างทางด่วน ทางยกระดับ และมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 ไม่มีเส้นทางอื่นที่เหมาะสมที่จะเลี่ยงการใช้ถนนพระราม 2 ได้ ต่างกับในระหว่างการก่อสร้างทางด่วนบูรพาวิถีบนถนนเทพรัตน มีการเปิดใช้มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี แล้ว ทำให้รถเลี่ยงถนนเทพรัตนไปใช้มอเตอร์เวย์แทนได้
ด้วยเหตุนี้ การขยายถนนพระราม 2 พร้อมการก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 ในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงข้อแนะนำ ดังนี้
(1) การขยายถนนพระราม 2 พร้อมกับการก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 ไม่ควรทำในเวลาเดียวกัน เพื่อลดพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ใช้ผิวจราจรมากเกินไป
(2) กรมทางหลวงควรพิจารณาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายถนนพระราม 2 พร้อมทั้งก่อสร้างถนนลอยฟ้าบนถนนพระราม 2 อย่ารอจนมีปริมาณรถสูงมากแล้ว
(3) กรมทางหลวงควรพิจารณาเร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์หมายเลข 8 นครปฐม-นราธิวาส (ด่านสุไหงโกลก) เพื่อเป็นทางเลือกการสัญจรสู่ภาคใต้
(4) ผู้เกี่ยวข้องควรกำกับดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด พร้อมแก้ปัญหาต่างๆ นานา โดยเฉพาะการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับพื้นที่ที่มีรถมากแต่มีผิวจราจรน้อย หากผู้เกี่ยวข้องไปสอดส่องดูแลการก่อสร้างอยู่เป็นประจำ การก่อสร้างจะดำเนินไปได้เร็วขึ้น การคืนผิวจราจรก็จะเร็วตามขึ้นด้วย
ทั้งหมดนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และผู้สัญจรบนถนนพระราม 2 ทุกคนครับ