การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของ “บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์” นักแสดงดาวรุ่ง Netflix ซีรีส์ดัง เรื่อง “เคว้ง” จากการนอนหลับลึกปลุกไม่ตื่น ช็อกความรู้สึกของแฟนคลับอย่างมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเปิดปม “ใหลตาย” หรือ บรูกาดา ซินโดรม โรคลึกลับที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมานาน หาทางแก้ไขอย่างไร ติดตามได้ในรายงานสืบจากข่าว
อีกหนึ่งคนวงการบันเทิงที่จากไปช่วงต้นปีนี้ “บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์” นักแสดงหนุ่มวัย 25 ปี เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน ด้วยอาการหลับใหลสิ้นลมอย่างสงบในบ้าน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2565 ขณะที่นักแสดงหนุ่มกำลังมีชื่อเสียงจากบทบาทในซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” นับเป็นเรื่องเสียดายที่ “บีม-ปภังกร” กำลังจะมีอนาคตรุ่งโรจน์บนเส้นทางบันเทิง โดยก่อนหน้านี้มีผลงานการแสดงในลิมิเต็ดซีรีส์ ปฏิบัติการกู้ชีพถ้ำหลวง โดยรับบทเป็น”โค้ชเอก” ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นการร่วมมือของ Netflix กับ SK Global ถ่ายทำในประเทศไทย มีแผนที่จะเปิดฉายทั่วโลกทาง Netflix ในปีนี้
สำหรับผลงานที่บีม-ปภังกร ฝากไว้ในวงการบันเทิง ในส่วนละคร เคยแสดงเรื่องบนเตียง (Sleepless Society : Bedtime Wishes) น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ สัมผัสพิศวง ตอน โจ๋ผู้กล้า เรื่องลับหลัง Mister Merman แฟนฉันเป็นเงือก Project S The Series ตอน Spike บางระจัน และ Blue Wave ส่วนผลงานโฆษณา : 7 -Eleven หลอดแปลงร่าง
ด้านผลงานภาพยนตร์ มี Waterboyy, The Stranded เคว้ง (Netflix Original)
บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ เกิดวันที่ 31 สิงหาคม 2539 ที่กรุงเทพฯ เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ และระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนสตรีวิทยา2
ผลงานในวงการบันเทิงแรกคือ ซีรีส์น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ รับบท “ปราบภัย” ตามมาด้วย Waterboyy รักใสใส…วัยรุ่นชอบ รับบท “หมึก” ผลงานกำกับการแสดงของ แอนดี้-ราชิต กุศลคูณสิริ โดยแสดงคู่กับ”เงิน-อนุภาษ เหลืองสดใส” ส่วนผลงานที่สร้างชื่อเสียงอีกเรื่องคือ ซีรีส์ “เคว้ง”(The Stranded) เป็นซีรีส์ไทยเรื่องแรกใน Netflix แนวดรามา-ไซไฟ-แฟนตาซี บีมรับบทเป็น “คราม” หนึ่งในตัวละครหลัก ซึ่งต้องฝึกการดำน้ำ ปีนเขา จับปลา จนคล่องแคล่ว ก่อนเริ่มถ่ายทำด้วย
นอกจากนี้ยังได้ร่วมงานแสดงกับนักแสดงรุ่นใหม่อีกหลายคน ได้แก่ มาร์ช จุฑาวุฒิ ,โอบ โอบนิธิ, แพท ชญานิษฐ์, ชาลีดา กิลเบิร์ต, ธิชา วงศ์ทิพย์กานนท์, แจ๊ค กิตติศักดิ์ ,นิ้ง ชัญญา, เพิร์ธ ธนพนธ์ และมาร์ค ศิวัช ซีรีส์เรื่องนี้ฉายทางNetflix เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562
การเสียชีวิตอย่างช็อกความรู้สึกของแฟนๆ และครอบครัว จากการที่ “บีม-ปภังกร” หลับลึกจนปลุกไม่ตื่นนี้ หรือที่รู้จักกันว่า “ใหลตาย” นี้ มีบทความของ แพทย์หญิงชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ เผยแพร่ในเว็บไซต์ chulacardiaccenter.orgเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ชื่อ โรคใหลตาย มีเนื้อหาระบุว่า
ใหลตาย หรือ sudden unexplained(unexpected) nocturnal death syndrome(SUND)ใช้เรียกการเสียชีวิตที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (ventricular fibrillation, VF)
มักพบขณะหลับ ทำให้เกิดอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก อาจเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ใหล ที่หมายถึง ละเมอ) มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน แต่ต่อมาพบว่าเสียชีวิตในตอนเช้าวันถัดไป
จึงเป็นที่มาของความเชื่อพื้นบ้านในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ว่า เกิดจากผีแม่ม่ายมาพาชายหนุ่มไปอยู่ด้วย
จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิตพบว่า ใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะ บรูกาดา (Brugada pattern) โดยไม่พบความของโครงสร้างและการทำงานส่วนอื่นๆ ของหัวใจทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)
อาการใหลตายเป็นอย่างไร
อาการใหลตาย เกิดจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว โดยความผิดปกติมักพบในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตถ้าการเต้นผิดจังหวะของหัวใจนั้นเกิดนานพอและไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตฟื้นขึ้นมาได้ กรณีที่การเต้นผิดจังหวะของหัวใจหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมอันได้แก่ การช็อคหัวใจ หรือการปั๊มหัวใจ
นอกจากใหลตายจะพบบ่อยขณะที่ผู้ป่วยหลับแล้ว ก็ยังอาจพบได้ในขณะตื่นเช่นกัน โดยอาการที่เกิดอาจเกิดอาการใจสั่นช่วงสั้นๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้
ใครเป็นผู้มีความเสี่ยง
มักพบในเพศชายวัยทำงาน (อายุ 25 – 55 ปี)แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงในเด็กหรือในผู้สูงอายุได้เช่นกัน สำหรับในประเทศไทยพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรองลงมาในภาคเหนือ
จะสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อใหลตายเมื่อไหร่
ผู้ที่รอดชีวิตจากอาการใหลตาย อาจเนื่องจากอาการใหลตายหยุดเอง หรือได้รับการรักษาทันท่วงที
ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ลักษณะเข้าได้กับใหลตาย เนื่องจากพบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและความผิดปกตินี้อาจส่งต่อไปในญาติสายตรงของผู้ป่วยใหลตายได้
ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด Brugada แม้จะไม่มีประวัติอาการใหลตายหรือประวัติครอบครัว
การวินิจฉัยใหลตายทำอย่างไร
การวินิจฉัยอาศัยการตรวจพบความผิดปกติที่เรียกว่า Brugada(Brugada pattern) จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบยกสูงขึ้นกว่าการตรวจมาตรฐาน หรือขณะให้ยากระตุ้น
การรักษาใหลตายทำอย่างไร
ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด การรักษาจึงมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิตโดยวิธีการดังนี้
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันได้แก่การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก
ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automatic implantable cardioverter defibrillator, AICD)
การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง
ใครควรต้องได้รับการใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD)
ผู้ที่รอดชีวิตจากใหลตาย
ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Brugada และเคยมีหลักฐานการตรวจพบว่ามีหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว
ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ชนิด Brugadaร่วมกับมีประวัติครอบครัวเสียชีวิตจากใหลตาย หรือมีประวัติวูบที่สงสัยว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สำหรับผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Brugadaจากการกระตุ้นด้วยยาหรือผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด Brugadaแต่ไม่มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตจากใหลตายหรืออาการวูบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงเพิ่มเติมโดยละเอียดเพื่อพิจารณาประโยชน์ของการใส่ AICD
เมื่อไหร่ที่จะทำการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (radiofrequency ablation, RFA)
RFA ช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วได้ แต่จะทำในผู้ป่วยที่เกิดการกระตุกของเครื่อง AICD บ่อยครั้งเนื่องจากมีหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วบ่อยๆ เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและยืดอายุการทำงานของ AICD
ค่าใช้จ่ายของการใส่ AICD เป็นอย่างไร สามารถใช้สิทธิการรักษาพื้นฐาน ได้หรือไม่
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ในการใส่สิทธิการรักษาทุกแบบครอบคลุมการใส่ AICD
กรณีที่มีประวัติครอบครัวเป็นใหลตาย หรือมีอาการสงสัยใหลตายจะต้องทำอย่างไร
เข้ารับการตรวจพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงใหลตาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม กรณีมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ทาง cardiaccenter.Kcmh@gmail.com