วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกการเมืองเดิมพันผลงานชิ้นโบแดง

Related Posts

เดิมพันผลงานชิ้นโบแดง

“…ล่าสุดนี้ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องคดีที่ลูกค้า “เอไอเอส และ ทรู”จำนวน 5 รายฟ้องขอให้เพิกถอนมติ กสทช. ที่”รับทราบ” ดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารรบบ ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณา และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป หากท้ายที่สุดของคดีนี้ออกมาในลักษณะที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติ กสทช.ต่อการรับทราบดีลควบรวม “ทรู-และดีแทค” ในครั้งนั้น ถึงเวลานั้นบอร์ด กสทช.ที่มีส่วนร่วมสังฆกรรมลงมติ “รับทราบ”การไฟเขียวดีลควบรวมจนทำให้โฉมหน้ากิจการโทรคมนาคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้ก็คงพาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช.กันระนาว..”

เดิมพันผลงานชิ้นโบแดง จ่องานงอกกันถ้วนหน้า!

กับองค์กร กสทช. หรือ “ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” ที่กำลังงานงอกเป็นรายวัน ทั้งจากกรณีความขัดแย้งภายในองค์กรที่มีการฟ้องร้องกันอุรุงตุงนัง ทั้งกรณีบอร์ดฟ้องประธาน กสทช.  รักษาการเลขาธิการ กสทช.ฟ้องบอร์ด กสทช.เสียงข้างมากที่ไม่ยอมโหวตให้ตนเป็นเลขาธิการ  ไหนจะเรื่องที่รองเลขาธิการฯร้องศาลเอาผิดกับบอร์ด กสทช.เข้าไปด้วยอีก

ยังไม่รวมบรรดาคดีความที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายที่ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวฟ้อง กสทช.กรณีไฟเขียวดีลควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)และยังมีกรณีบริษัทสื่อสารใต้ชายคาทรูอินเตอร์เน็ตฟ้องบอร์ด กสทช.ด้วยอีก เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็ “ทัวร์ลงยับ” แบบหัวกระไดไม่แห้ง

*ล่าสุดนี้ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังมีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องคดีที่ลูกค้า “เอไอเอส และ ทรู” จำนวน 5 รายฟ้องขอให้เพิกถอนมติ กสทช. ที่ “รับทราบ” ดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” ตั้งแต่ปีก่อนและ 2 บริษัทสื่อสารเพิ่งเปิดแชมเปญฉลองครบรอบ 1 ปีของดีลควบรวมกิจการไป*

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีที่ผู้ร้องได้ขอให้เพิกถอนมติกสทช.กรณี “รับทราบ” รายงานการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ไว้พิจารณา

โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีที่ผู้บริโภค 5 รายยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ให้รับคำฟ้องของผู้บริโภคทั้ง 5 รายไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าแม้การยื่นฟ้องคดีพิพาทจะพ้นกำหนดระยะเวลาไปแล้วตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2542 แต่การฟ้องคดีนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลจึงมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้ความเห็นประกอบคำสั่งด้วยว่า บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย ทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการจะควบรวมธุรกิจหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการในวงกว้างด้วย

” ข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน  การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารรบบ ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไว้พิจารณา และดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป”

น่าเสียดายที่การฟ้องคดีครั้งนี้ ไม่ได้ลงลึกไปถึงมติ กสทช. ที่ “รับทราบ” รายงานการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ไปแบบอึนๆ  คือ 2-2-1 (เห็นชอบ 2 เสียง ไม่เห็นชอบ 2  เสียงและงดออกเสียง 1 )ก่อนที่บอร์ด กสทช.จะสรุปว่าเสียงเท่ากันให้ประธานลงมติซ้ำใหม่ได้อีกครั้ง กลายเป็น 3 ต่อ 2 เสียงที่ “รับทราบ”รายงานการควบรวมกิจการ โดยไม่มีอำนาจพิจารณา-หรือไม่พิจารณา

แต่ในภายหลังเมื่อมีกรณีการขอควบรวมกิจการในลักษณะเดียวกัน กรณีบริษัท เอไอเอส ยื่นขอควบรวมกิจการ 3 BB เครือข่ายอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ บอร์ด กสทช.กลับมีมติว่า อยู่ในอำนาจที่ กสทช.มีอำนาจพิจารณาได้ ก่อนมีมติให้จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบก่อนและหลังการควบรวมฯ ซึ่ง “ย้อนแย้ง” กับดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” โดยสิ้นเชิง! 

สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐาน “ดับเบิ้ลสแตนด์ดาร์ด”  ขององค์กรกำกับดูแลแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีที่ กสทช.ไฟเขียวดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ไว้พิจารณาข้างต้น ก็ทำให้คดีความในลักษณะเดียวกันที่ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” และเครือข่ายที่ร่วมกันยื่นฟ้อง กสทช.ก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในกรณีเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้-เสีย และประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ดูจะมีน้ำหนักขึ้นมาทันที หลังจากคดีดังกล่าวหายเข้ากลีบเมฆมานาน

 หากท้ายที่สุดของคดีนี้ออกมาในลักษณะที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติ กสทช.ต่อการรับทราบดีลควบรวม “ทรู-และดีแทค” ในครั้งนั้น ถึงเวลานั้นบอร์ด กสทช.ที่มีส่วนร่วมสังฆกรรมลงมติ “รับทราบ”การไฟเขียวดีลควบรวมจนทำให้โฉมหน้ากิจการโทรคมนาคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้ก็คงพาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช.กันระนาว

*ถือเป็นการเดิมพันราคาแพงที่เรียกได้ว่า หากพ่ายแพ้คดีขึ้นมาเป็นโดนเชือดยกองค์กร จึงต้องจับตากันอย่ากะพริบ!!!*

#สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts