เมื่อเร็วๆ นี้ ผลสำรวจจำนวนการผลิตรถยนต์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน พบว่าไทยครองอันดับหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์มากที่สุดในปี 2566 จำนวนการผลิตรถยนต์ของไทยอยู่ที่ 1,841,663 คัน ด้วยจุดแข็งที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุน และสนับสนุนบรรยากาศแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของแรงงานมีฝีมือไทยให้แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ รวมทั้งปัจจัยด้านการขนส่ง จึงทำให้ไทยมีฐานการผลิตของบริษัทรถยนต์ชั้นนำจากทั่วโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งรักษามาตรฐานการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ให้แข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคตของไทย
ปัจจุบันปั้มน้ำมันที่เห็นเรียงรายตามสองข้างทาง เริ่มปรับตัวกลายไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ หรือเปลี่ยนไปให้บริการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าแทนการเติมน้ำมัน ผู้ให้บริการรายใหญ่จะไม่ใช่ผู้ประกอบการน้ำมันอีกต่อไป แต่กลายเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเริ่มปรับโมเดลธุรกิจ สร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า สร้างแพลตฟอร์มค้นหาหรือจองแหล่งชาร์จไฟ การขายตู้อัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
EVLOMO Inc. บริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ผ่านบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นในชื่อ บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด ขณะเดียวกัน ยังสร้างความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อนำเครื่องชาร์จไฟความเร็วสูงเป็นพิเศษไปติดตั้งตามสถานีบริการน้ำมันของ PTTOR
ขณะที่ในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อปี 2561 บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ก็ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาด ในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าการลงทุนเฟสแรกประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี จำหน่ายในเมืองไทยและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ EA
หันไปมองในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ทุกค่ายต่างประโจนเข้าสู่สนามนี้กันถ้วนหน้า ขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ไม่ว่าจะเป็นนิสสัน, โตโยต้า, มาสด้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, อาวดี้, เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู หรือค่ายที่ไม่ค่อยคุ้นหูอย่าง ฟอมม์, ทาคาโน่, สามมิตร, สกายเวลล์ ไมน์ ยังไม่นับค่ายรถยนต์จากจีน และผู้เล่นรายใหม่ๆอีกหลายรายที่ไม่เคยผลิตรถยนต์ แต่มองเห็นแนวโน้มของยานยนต์ประเภทนี้
ในด้านการพัฒนาบุคลากร ก็มีการเดินหน้าจัดทำหลักสูตรยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งในระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษา และ มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อปั้นแรงงานทักษะสูงเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้
ประเทศไทยไทยวางเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และเมื่อถึงปี 2040 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน