องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนรายงานว่า ยานพุ่งขึ้นของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ของจีน ทะยานขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (4 มิ.ย.) พร้อมตัวอย่างที่เก็บจากด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันมิเคยเกิดขึ้นมาก่อน ในประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์
รายงานระบุว่า ยานพุ่งขึ้นทะยานจากด้านไกลของดวงจันทร์ ตอน 07.38 น. ตามเวลาปักกิ่ง และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดรอบดวงจันทร์ด้วยแรงผลักจากเครื่องยนต์ ขนาด 3,000 นิวตัน โดยยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 เสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่างอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว และตัวอย่างถูกเก็บไว้ในกล่องภายในยานพุ่งขึ้นตามแผน
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บตัวอย่าง ธงชาติจีนบนยานลงจอด ถูกคลี่ออกเป็นครั้งแรกบนด้านไกลของดวงจันทร์ โดยระบบแสดงธงชาติจีนของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากภารกิจฉางเอ๋อ-5 เนื่องด้วยมีจุดลงจอดแตกต่างกัน ส่วนยานลงจอดทำหน้าที่เป็น “ฐานปล่อย” ชั่วคราวสำหรับยานพุ่งขึ้นด้วย
การทะยานขึ้นจากด้านไกลของดวงจันทร์ของยานพุ่งขึ้น ไม่สามารถเลียนแบบการทะยานขึ้นจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-5 เพราะไม่สามารถรับการควบคุมและการสนับสนุนจากภาคพื้นโลกโดยตรง จึงต้องใช้เซ็นเซอร์พิเศษเพื่อระบุตำแหน่งและปรับทิศทางแบบอัตโนมัติ ภายใต้ความช่วยเหลือจากดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2
ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 ซึ่งถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานพุ่งขึ้น และยานส่งกลับ โดยส่วนประกอบยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้น แยกจากส่วนประประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. และลงจอดบนจุดที่กำหนดในแอ่งขั้วใต้-เอตเคน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.
องค์การฯ ระบุว่า ภารกิจนี้พิสูจน์การผ่านบททดสอบจากอุณหภูมิสูงบนด้านไกลของดวงจันทร์ ขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยได้จำลองการเก็บตัวอย่างในห้องปฏิบัติการภาคพื้นโลก โดยอ้างอิงข้อมูลที่ส่งกลับสู่โลก ด้วยดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 ซึ่งช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ และการดำเนินงานที่สำคัญ
สำหรับการเก็บตัวอย่างบนดวงจันทร์แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ การใช้เครื่องขุดเจาะเก็บตัวอย่างใต้พื้นผิว และการใช้แขนกลเก็บตัวอย่างบนพื้นผิว โดยมีการเก็บตัวอย่างหลากหลายชิ้นจากจุดต่างๆ อย่างอัตโนมัติ
องค์การฯ เผยว่า ยานส่วนประกอบยานโคจร-ยานส่งกลับ เดินทางเข้าใกล้โลก ยานส่งกลับที่บรรทุกตัวอย่างจากดวงจันทร์ จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และคาดว่าจะลงจอดบริเวณอำเภอซื่อจื่อหวัง เขตปกครองตนเองมองโกเลีย ในทางตอนเหนือของจีน
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากซินหัว