“มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา” ประโยคนี้น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายญี่ปุ่น ที่โดนค่ายรถยนต์ของจีน ปาดหน้าคว้าชิ้นปลามัน ไปกินก่อนหน้านี้
จะว่าไปแล้ว ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ มาก่อนหน้านี้หลายปี เพียงแต่ว่าด้วยเงื่อนไข ปัจจัยหลายอย่าง จึงไม่อาจปรับแบบ 360 องศา โดยเฉพาะซัพพลายเชนในตลาดรถยนต์สันดาป ที่มีคู่ค้า พันธมิตร เชื่อมโยงในกระบวนการผลิตมากมาย ถ้าเปลี่ยนปุบปับฉับพลัน หลายกิจการคงพังพาบ เพราะปรับตัวไม่ทัน ถ้าจะเปลี่ยนทั้งที ก็ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้ข้อสรุปว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 ราย ขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถกระบะไฟฟ้า ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
Toyota ลงทุน 50,000 ล้านบาท
Honda ลงทุน 50,000 ล้านบาท
Isuzu ลงทุน 30,000 ล้านบาท
Mitsubishi ลงทุน 20,000 ล้านบาท
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ก็มีมติอนุมัติ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า ประกอบด้วยสิทธิประโยชน์ คือ
รถยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คันในปีที่ 1, 75,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คันในปีที่ 3-4
รถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คันในปีที่ 1, 35,000 บาท/คันในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4
ส่วนรถกระบะไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
เท่ากับว่างานนี้ อีวีญี่ปุ่น มาถูกที่ถูกเวลาจริงๆ