เป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องว่า การเข้ามาใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าของจีน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยจริงไหม หรือเพียงแค่ใช้เป็นฐานประกอบเพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม
สุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สะท้อนเรื่องนี้ผ่านเวทีเสวนา “EVจีน เป็นมิตรหรือเป็นพิษต่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน ว่า การย้ายเข้ามาของค่ายรถไฟฟ้าจากจีน เหตุผลเพราะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจีน ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าล้นตลาด (Over Supply) และจีนเล็งเห็นอยู่แล้วว่า เขาต้องถูกกีดกันทางการค้า จากอเมริกาและยุโรป ดังนั้น การย้ายฐานมายังประเทศอาเซียน จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เป็นจังหวะเดียวกับการส่งออกรถยนต์ของไทยเริ่มชะลอตัวลงเหมือนกัน เราจึงรับส้มหล่นจากจีน ซึ่งจีนก็เลือกลงในประเทศไทยมากที่สุดในอาเซียน
เมื่อจีนเข้ามาก็มีการเปิดโรงงานจริง มีการซื้อที่ดิน และต้องจ่ายภาษีต่างๆ เป็นรายได้ในประเทศทั้งหมด วัตถุดิบการก่อสร้างโรงงานก็เป็นของท้องถิ่น อย่างเคสของ MG ลงทุนประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 หรือ 11ปี ซึ่งได้ลงทุนไปแล้ว กว่า 5 หมื่นล้านบาท
ในด้านการจ้างงาน MG เปิดให้ตรวจสอบได้ว่า แต่ละโรงงานมีพนักงานกี่คน เป็นคนจีนกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ชัดว่า เขาจ้างงานคนไทย อย่างไรก็ตาม แม้การย้ายฐานผลิตมาในอาเซียน จะเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามทางการค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เข้ามาแล้วแค่ขันน๊อตในประเทศไทยแล้วส่งออกไปได้เลย เพราะทางยุโรปเขาก็ไม่ได้โง่ ต้องทำตามเงื่อนไข คือใช้วัตถุดิบในเมืองไทย ต้องแสดงถิ่นกำเนิดสินค้าว่า มีการผลิตในเมืองไทยจริง ต้องใช้โลคัลคอนเทนต์ หรืออาเซียนคอนเทนต์ ในการผลิตมากขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ไทยและจีนที่จะสามารถเติบโตในอุตสาหกรรมอีวีร่วมกัน
ในขณะที่การสนับสนุนของภาครัฐ ก็ต้องมีการผลิตชดเชย เช่น ถ้านำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022-23 จำนวน 1,000 คัน ต้องผลิตชดเชยในปี 2024-25 จำนวน 1,000 คัน แต่ถ้านำเข้ามา 1,000 คัน แล้วผลิตชดเชยแค่ 900 คันขาด 100 คัน ปีถัดไปจะผลิตเพิ่มแค่ 100 คันไม่ได้ แต่ต้องผลิตเพิ่มอีก 1,000 คัน หรือ 2 เท่าของที่นำเข้ามา เพราะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งในปีนี้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศแล้ว อาทิ MG GWM NETA และ AION เริ่มผลิตแล้ว และจะตามด้วย BYD และ Changan
“ผมมองว่ารถอีวีจีน เป็นมิตรกับไทย ที่ใช้บ้านเราเป็นฐานผลิตส่งออก ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว