กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการให้ พล.ต.ต. มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ. เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ. มนูญ แก้วก่ำ ผกก.1 บก.ป., พ.ต.ท. อัครพล มณีวรรณ, พ.ต.ท. สมเดช สาระบรรณ์, พ.ต.ท. ธนศักดิ์ สว่างศรี, พ.ต.ท. อภิชน ขันกา, พ.ต.ท. พชรเดช บุญฤทธิ์ รอง ผกก.1 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม กก.1 บก.ป. นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท. เรืองวิทย์ ดวงจินดา สว.กก.1 บก.ป., ร.ต.อ. ณัฐเดช สุทธิชาญบัญชา รอง สว (สอบสวน) กก.1 บก.ป., ร.ต.อ. พิชพงษ์ พงษ์ชีพ รอง สว กก.1 บก.ป. ด.ต. เกียรติศักดิ์ จักสาร, จ.ส.ต. วีระศักดิ์ มั่นจิตร จ.ส.ต. นิรุตต์ มีภักดี, จ.ส.ต. วิชัยพันธ์ จันทรา จ.ส.ต. ธนาวุฒิ พลสนอง, จ.ส.ต.เทพกร รณรงค์ ผบ.หมู่ กก.1 บก.ป., จ.ส.ต. เจษฎา เหล่าภักดี ผบ.หมู่ กก.ตชด.34 รรท.ผบ.หมู่ กก.1 บก.ป., ส.ต.อ. ทวีศักดิ์ เถาวะนิช กก.ตชด.11 รรท.ผบ.หมู่ กก.1 บก.ป.
ร่วมกันจับกุม นายพุธศุกร์ ฯ ฉายา แบงค์ ดินแดง อายุ 29 ปี อาศัยอยู่ใน หมู่ที่ 10 ตำบลทุ่งกระตาดพัฒนา อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์
โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่นและร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยมิได้กระทำต่อประชาชนแต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ”
สถานที่จับกุม บริเวณ คอนโดมิเนียม ซอยประชาสงเคราะห์ 20 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้เสียหายได้รู้จัก กับนายพุธศกร์ฯ (ผู้ต้องหาที่ 1) ผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ จากนั้นได้กล่าวอ้างกับผู้เสียหายว่า เคยเป็นนักมวย และเป็นเจ้าของกองทุนธนาคารเกียรนาคินภัทร จำนวน 600,000 บาท ต่อมา นายพุธศุกร์ฯ ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ และพูดคุยสนทนากัน จากนั้นได้ชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนกับกองทุนดังกล่าว โดยอ้างว่าถ้าถอนเงินออกมาจากกองทุนทั้งหมด จะได้รับเงินปันผลกำไร จำนวน 60,000 บาท แต่จะต้องโอนเงินค่าธรรมเนียม เข้าไปก่อน จึงจะถอนเงินได้ และจะโอนเงินจำนวน 60,000 บาท เข้าบัญชีผู้เสียหายทันที ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินไปครั้งแรก เป็นเงิน 2,000 บาท จากนั้นผู้เสียหายทวงถามเรื่องเงินปันผลกำไรกับนายพุธศุกร์ฯ ก็บ่ายเบี่ยง และแจ้งว่าจะต้องโอนเงินเพิ่มอีกจึงจะถอนเงินได้ ผู้เสียหายจึงได้โอนเงินเพิ่มไปอีกเรื่อยๆ ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2567 จำนวน 74 ครั้ง ซึ่งรวมเป็นเงินที่เสียหายทั้งหมด 106,254 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ชื่อนายพุธศุกร์ฯ และบัญชีธนาคาร ชื่อนายธีะวัฒน์ฯ (ผู้ต้องหาที่ 2) ทุกครั้งที่ทวงถาม นายพุธศุกร์ฯ ก็ได้บ่ายเบี่ยงที่จะโอนเงินปันผลกำไรให้ผู้เสียหายมาโดยตลอด และได้ส่งรูปภาพที่นำมาจากเว็บไซต์อื่นมาหลอกลวงผู้เสียหายว่านำเงินไปดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมกองทุนเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา นายพุทธศุกร์ฯ ได้นัดหมายให้ผู้เสียหายไปพบ เพื่อรับเงินผลกำไรจากกองทุนดังกล่าว เมื่อพบ นายพุธศุกร์ฯ ก็ไม่ยอมโอนเงินปันผลกำไรให้ ผู้เสียหายจึงรู้ว่าถูกหลอก จึงบอกกับนายพุธศุกร์ฯ ว่าจะไปแจ้งความกับตำรวจ นายพุธศุกร์ฯ ได้พูดท้าทายว่า ไปแจ้งความได้เลย ไม่กลัว มันเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา มันยอมความกันได้ และอ้างว่าพ่อเป็นตำรวจ ซึ่งในความเป็นจริงพ่อของนายพุธศุกร์ฯ ไม่ได้เป็นตำรวจตามที่กล่าวอ้าง ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.จระเข้น้อย พนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติศาล ออกหมายจับ
จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม กก.๑ บก.ป. สืบสวนทราบว่า นายพุธศุกร์ฯ หลบหนีไปอาศัยอยู่คอนโดมิเนียม ซอยประชาสงเคราะห์ 20 แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงเดินทางไปตรวจสอบ และเฝ้าสังเกตการณ์ ต่อมาพบบุคคลชาย ลักษณะคล้ายตามตำหนิรูปพรรณ เดินอยู่บริเวณหน้าคอนโดดังกล่าว (สถานที่จับกุม) เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้สอบถามชื่อ-นามสกุล พร้อมตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน ทราบชื่อว่า นายพุธศุกร์ ฯ อายุ 29 ปี ซึ่งตรงกับบุคคลตามหมายจับของศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.611/2567 ลงวันที่ 24 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แสดงตัว และเข้าทำการจับกุม นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.จรเข้น้อย ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังจับกุม นายพุธศุกร์ ฯ ประชาชนที่พักอาศัยภายในคอนโด ได้เข้ามาชื่นชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ที่ได้ทำการจับกุมตัวนายพุธศุกร์ฯ เนื่องจากมีพฤติกรรม ใช้อุบายหลอกเอาเงิน คนที่อยู่ภายในคอนโดไปทั่ว แต่ไม่มีใครกล้าไปแจ้งความดำเนินคดี เพราะนายพุธศุกร์ฯ เป็นอดีตนักมวย และมีกลุ่มเพื่อนเยอะในย่านถนนประชาสงเคราะห์ จึงกังวลเรื่องความปลอดภัย ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหายอมรับว่า ให้ผู้เสียหายโอนเงินร่วมลงทุนกับกองทุน เข้าบัญชีผู้ต้องหาจริง
เตือนภัย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ผู้ใดกระทำการโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ร.ต.อ.ณัฐเดช สุทธิชาญบัญชา รอง สว.(สอบสวน) ฯ กก.1 บก.ป. โทร. 087-088-8450