“…ตำรวจ บก.ป. รวบสาวใหญ่หัวหน้าแก๊งตกทองทำมานานกว่า 30 ปี ร่วมกันตระเวนก่อเหตุตกทองตามตลาดนัด-งานมหรสพต่าง ๆ ตุ๋นคนโลภให้ตายใจเสียทรัพย์เพราะความอยากได้ของฟรี โดยจะเลือกเหยื่อที่ดูมีอายุและมาคนเดียว…”
เมื่อวันที่ 12 เม.ย.65 กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.มีชัย กำเนิดพรม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณรอง ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ป., ว่าที่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.สิงห์ชัย ฐานไชยสิทธิ์ รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.พงศกร ตันอารีย์ รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.สุรเชษฐ์ เดชะพันธ์ รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง ปฏิบัติราชการ รอง ผกก.3 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.ณัฐดนัย สีแข่ไตร สว.กก.3 บก.ป.,
ร่วมกันจับกุม นางรัตนาหรือแอ๊ด (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ดังนี้
- หมายจับศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ จ.205 / 62 ลง 27 มิ.ย.62 ฐานกระทำความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น”
- หมายจับศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ จ.50/62 ลง 15 ก.พ.62 ฐานกระทำความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์”
- หมายจับศาลจังหวัดพิมาย ที่ จ.4/62 ลง 18 ม.ค.62 ฐานกระทำความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์”
- หมายจับศาลแขวงราชบุรี ที่ จ.98/61 ลง 23 ส.ค.61 ฐานกระทำความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์”
- หมายจับศาลแขวงสุพรรณบุรี ที่ จ.126/61 ลง 31 ก.ค.61 ฐานกระทำความผิด “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์”
สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณปี 2561 นางรัตนาหรือ เเอ๊ด (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหากับพวกรวม 8 คน ร่วมกันตระเวนก่อเหตุตกทองตามตลาดนัด, งานมหรสพต่าง ๆ ในพื้นที่ จว.ฉะเชิงเทรา โดยจะเลือกเหยื่อที่ดูมีอายุและมาคนเดียว เมื่อเลือกเหยื่อได้แล้ว ผู้ต้องหากับพวกก็จะแสดงละครโดยการให้พวกของตนทำทีว่าทำกระเป๋าเงินหล่นหาย พร้อมบอกกับคนในตลาดว่าภายในกระเป๋ามีเงินและทองคำจำนวนมาก จากนั้นจะทำทีเดินเข้ามาถามผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อว่า “พบเห็นกระเป๋าเงินที่หล่นหายหรือไม่” เมื่อผู้เสียหายตอบว่า “ไม่เจอ” ก็ทำทีเดินหนีไป ผู้ต้องหาเห็นว่าผู้เสียหายยืนอยู่ตามลำพังแล้ว จึงได้เดินเข้ามาหาผู้เสียหายพร้อมกับพวกอีกคนหนึ่งว่าตนเก็บกระเป๋าเงินที่หล่นหายได้ ซึ่งภายในกระเป๋ามีทองคำและทรัพย์สินอื่นจำนวนมาก แต่หาเจ้าของกระเป๋าไม่เจอ
จากนั้นผู้ต้องหาชวนผู้เสียหายพูดคุยตีสนิท และออกอุบายโดยการกล่อมผู้เสียหายว่าในกระเป๋าเงินที่เก็บได้มีสร้อยคอทองคำ และอยากจะแบ่งให้ตนเองกับผู้เสียหายในจำนวนเท่าๆ กันพร้อมกับเปิดกระเป๋าให้ผู้เสียหายดูทรัพย์สินข้างในกระเป๋า เมื่อผู้เสียหายเห็นว่าในกระเป๋าเงินมีสร้อยคอทองคำอยู่จริงและมีขนาดใหญ่กว่ากำไลข้อมือของตน ทำให้ผู้เสียหายเกิดความโลภอยากได้เพราะคิดว่ามูลค่าทองคำดังกล่าวมีค่ามากกว่าของตน จึงรีบตอบ “ตกลง”
จากนั้นผู้ต้องหาทำทีหยิบสร้อยคอทองคำในกระเป๋าออกมาจับเล่นแล้วบอกกับผู้เสียหายว่า “สร้อยคอเส้นนี้หนักประมาณ 2 สลึง ถ้าเอาไปขายคงได้ราคาประมาณ 6,000 บาท ซึ่งผู้ต้องหาจะขอซื้อสร้อยคอคืน โดยจ่ายส่วนแบ่งให้ผู้เสียหาย 3,000 บาท เมื่อผู้เสียหายได้ยินดังนั้นจึงรีบตอบ “ตกลง” ผู้ต้องหาจึงบอกกับผู้เสียหายว่า “จะไปเอาหยิบเอาเงินสดในรถมาจ่ายให้ ซึ่งรถจอดอยู่ไม่ไกล” โดยจะฝากกระเป๋าเงินพร้อมกับสร้อยคอทองคำให้ผู้เสียหายถือไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้เสียหายจะต้องวางหลักประกันไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายนำสร้อยคอทองคำหลบหนี
โดยผู้ต้องหาขอเป็นกำไลข้อมือของผู้เสียหายซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 1 สลึงไว้เป็นหลักประกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อและยอมมอบกำไลข้อมือ
ของตนให้ผู้ต้องหา หลังจากที่ผู้ต้องหารับกำไลข้อมือจากผู้เสียหายแล้ว ได้เดินหลบหนีหายไป ผู้เสียหายซึ่งยืนรออยู่นานจนผิดสังเกต จึงได้เปิดดูภายในกระเป๋าเงินพบว่าสร้อยคอทองคำดังกล่าวเป็นสร้อยคอทองคำปลอม จึงเชื่อว่าตนเองถูกแก๊งตกทองหลอกลวง จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหากับพวก ซึ่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายประกาศสืบจับผู้ต้องหากับพวกดังกล่าว
ภายหลังการจับกุม ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าตนกับพวกหลอกลวงเหยื่อตามพฤติการณ์ดังกล่าวข้างตนจริง โดยใช้วิธีการกับเหยื่อแบบเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งก่อเหตุมาแล้วกว่า 30 ปี และมีผู้เสียหายหลายร้อยรายทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท และจากการตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหากับพวกถูกออกหมายประกาศสืบจับทั่วประเทศคนละหลายหมาย ซึ่งสมาชิกบางส่วนยังไม่เคยถูกจับกุม และอยู่ระหว่างการหลบหนี
สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา