“… จะว่าไปกลุ่มนักลงทุนไทยที่มีกำลังพอจะออกไป “เบ่งกล้าม” บนเวทีโลก นอกจากเจ้าพ่อกระทิงแดง “เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา” และ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แล้ว ในระยะหลังก็เห็นจะเป็นกลุ่นทุนพลังงานทั้ง ปตท.PTT กลุ่มบ้านปู และกัลฟ์ เอนเนอร์จี ที่ยังคงมีการลงทุนในต่างประเทศอยูเป็นเนืองๆ ส่วนบริษัทภิบาลในรายที่รัฐบาลในอดีตคอยประคบประหงม แทบจะอุ้มสมกันอย่างออกหน้าออกตา อยากจะควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่ง เพื่อจะได้ผงาดเป็นบริษัทบิ๊กบึ้มในระดับภูมิภาค หรือควบรวมกิจการสื่อสารเพื่อจะได้ออกไปผงาดเป็นบริษัทสื่อสารระดับโลกระดับภูมิภาคอะไรนั้น ฝากท่าน “ผู้นำจิตวิญญาณ” พรรคเพื่อไทยลองสอบถามหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่อนุมัติอุ้มสมกันไปก่อนหน้า (อย่างน่าทุเรศทุรัง) นั้น เขาทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างหรือยัง?…”
จากค้าปลีกค้าส่ง….ถึงทุนสื่อสาร-พลังงาน
แกะรอยธุรกิจไทยรุดปักหมุดในต่างแดน
ขานรับวิชั่น “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า”
ที่เห็นและเป็นไปก็มีแต่ทุนพลังงาน PTT Gulf บ้านปู ที่ออกไปแข่งตลาดโลกด้วยลำแข้ง แต่รายที่หน่วยงานรัฐอุ้มสม เลี่ยงกฏหมายให้สารพัดเพื่อให้ควบรวมกิจการทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง และสื่อสาร ที่อ้างจะได้ผงาดเป็นบิ๊กบึ้มในเอเซียน้ัน มีรายไหนออกไปปักหมุดเป็นรูปธรรมบ้าง???
ควันหลงจากการโชว์วิสัยทัศน์ของ นายทักษิณ ชินวัตร “นายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า” บนเวที Vision for Thailand 2024 ที่เครือเนชั่นกรุ๊ปจัดขึ้นวันก่อน ที่ยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง
โดย 1 ในปัญหาเศรษฐกิจที่ อดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวถึงนอกจาก “กับดักหนี้ครัวเรือน” ที่สูงกว่า 90% ในเวลานี้แล้ว ยังมีเรื่องธุรกิจไทยที่อดีตนายกฯ เห็นว่า วันนี้ยังเอาแต่ตั้งรับมุ่งทำมาหากินในประเทศ และมุ่งเน้นการเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน (ตักตวง) เสียมากกว่า ตนเองอยากเห็นนักลงทุนไทยออกไปสู้ในเวทีโลกบ้าง โดยรัฐบาลต้องช่วยสนับสนุน
จะว่าไปกลุ่มนักลงทุนไทยที่มีกำลังพอจะออกไป “เบ่งกร้าม” บนเวทีโลก นอกจากเจ้าพ่อกระทิงแดง “เจ้าสัวเฉลียว อยู่วิทยา” และ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แล้ว
ในระยะหลังก็เห็นจะเป็นกลุ่นทุนพลังงานทั้ง ปตท.PTT กลุ่มบ้านปู และกัลฟ์ เอนเนอร์จี ที่ยังคงมีการลงทุนในต่างประเทศอยูเป็นเนืองๆ
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานที่ออกไปลุยไฟในเวทีโลกในช่วงที่ผ่านมา (โดยที่ภาครัฐแทบจะไม่เคยอุ้มสมให้การสนับสนุนอะไรนั้น) อย่าง กลุ่มบ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ที่ออกไปลงทุนด้านกิจการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินทั่วโลกมาแล้ว ทั้งในสหรัฐ จีน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ล่าสุดยังออกมาตีปี๊บผลดำเนินงานครึ่งแรกของปีนี้ที่มีกำไรอู้ฟู่กว่า 1,600 ล้าน จากโรงไฟฟ้าแฝด Temple1-Temple II ในสหรัฐ รวมทั้งโรงไฟฟ้า HPC ใน สปป.ลาว กับการขยายลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ในมลรัฐเท็กซัส อีกด้วย
กลุ่มพลังงานไทยอีกรายที่ออกไปลุยไฟลงทุนในต่างประเทศมาอย่างโชกโชน ก็คือ “กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด (มหาชน) หรือ Gulf ที่ผู้บริหาร “เสี่ยกลาง-สารัตถ์ รัตนาวะดี” ที่ไปโผล่อยู่ข้างกายนายใหญ่แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้าอยู่เนืองๆ นั่นแหละ ที่นอกจากจะประกาศเดินหน้าควบรวมกิจการ INTUCH ให้ฮือฮากันไปล่าสุดแล้ว
ในแง่ของการลงทุนต่างประเทศด้านพลังงานของ Gulf ก็ไม่ธรรมดาลุยไฟลงทุนต่างประเทศมาหมดแล้ว ทั้งในเวียดนาม โอมาน เยอรมนี สหรัฐ และอังกฤษ รวมทั้งใน สปป.ลาวเพื่อนบ้าน ล่าสุดตัวผู้บริหารกัลฟ์ยังประกาศจะรุกลงทุนเพิ่มเติมในตะวันออกกลางอีกด้วย
สำหรับกลุ่ม ปตท.PTT นั้นน่าจะถือเป็นที่สุดของธุรกิจพลังงานไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลงทุนขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงาน ค้าน้ำมันดิบ และคอนเดนเสท ก๊าซธรรมชาติ (ยกเว้นกิจการปาล์มน้ำมันในอิโดนีเซีย 20,000 ล้านที่ลงทุนแล้วสูญ) โดย ปตท. และบริษัทลูก มีการลงทุนในต่างประเทศและมีเครือข่ายพันธมิตรอยู่ทั่วโลกนับไม่ถ้วน
ส่วนบริษัทภิบาลในรายที่รัฐบาลในอดีตคอยประคบประหงม แทบจะอุ้มสมกันอย่างออกหน้าออกตา อยากจะควบรวมกิจการค้าปลีก-ค้าส่งเพื่อจะได้ผงาดเป็นบริษัทบิ๊กบึ้มในระดับภูมิภาค หรือควบรวมกิจการสื่อสารเพื่อจะได้ออกไปผงาดเป็นบริษัทสื่อสารระดับโลกระดับภูมิภาคอะไรนั้น
ฝากท่าน “ผู้นำจิตวิญญาณ” พรรคเพื่อไทยลองสอบถามหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่อนุมัติอุ้มสมกันไปก่อนหน้า (อย่างน่าทุเรศทุรัง) นั้น เขาทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างหรือยัง?
ที่เห็นและเป็นไป กลับเป็นเรื่องของการแพร่ระบาด “ปลาหมอคางดำ” ที่บริษัทภิบาลรายนี้ออกมา “ปัดสวะ” ยืนยัน นั่งยัน (และตะบันหมากยัน) ว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่รู้มันว่ายข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศกาน่า ในทวีปอาฟริกาเข้ามายังไทยได้อย่างไร?
ส่วน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้าน ที่รัฐให้สัมปทานออกไปตั้งแต่ปี 2562 ตีฆ้องร้องเปล่า จะเป็นแม่เหล็ก ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้กระหึ่มเมืองอะไรนั้น
ผ่านมาวันนี้ กว่า 5 ปีเข้าไปแล้ว ตอกเสาเข็มไปสักต้นหรือยัง วาน “ท่านนายกแพ้ทองทาน ชินวัตร” และท่าน “ผู้นำจิตวิญญาน” พรรคเพื่อไทยตรวจสอบต้นสายปลายเหตุหน่อยเป็นไร? ทำไมถึงไม่ขยับไปไหนเสียที! ทีกับโครงการในลักษณะเดียวกันคือทางรถไฟยกระดับ “โฮปเวลล์” ที่แม้จะก่อสร้างล่าช้า (แต่ก็ก่อสร้าง-จ่ายค่าสัมปทาน) 5 ปีคืบหน้าแค่ 15-20%
รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมทำอย่างไรรู้ไหม๊? ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทานเขาทันทีครับ ฯพณฯ ท่าน!!!
#สืบจากข่าว รายงาน