เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน ร่วมกับศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาอย่างสันติภาพก้าวสู่ความเจริญร่วมกัน” ณ ห้องประชุม อาคารเอนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 49 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาว่า ยินดีที่ได้มีโอกาสขึ้นมายืนบนเวทีนี้อีกครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในแง่ของประสบการณ์การบริหารประเทศ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาสำหรับพี่น้องทั้งไทยและจีน ซึ่งการที่เรามาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอายุครบ 49 ปี
“ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนที่อยู่ในที่นี้ ได้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่แน่นแฟ้นขึ้นเกือบทุกมิติ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สิ่งสำคัญที่ผมเชื่อว่าทุกคนตระหนักเช่นเดียวกันคือ แม้ว่าความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร แต่ปัจจุบันและอนาคตก็มีความท้าทายที่สร้างความกังวลให้กับพี่น้องไทย-จีน และจะว่าไปแล้วก็คือชาวโลกทั้งโลกในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เฉียบพลัน กระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ปัญหาโลกร้อนซึ่งแม้จะมีความพยายามในการสร้างความตระหนักรู้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ก็ยังมีสัญญาณอยู่ตลอดเวลาว่า เรายังช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ไม่ทันการณ์ ที่สำคัญที่สุด 10 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากวิกฤตการเงินโลก เราต้องเผชิญปัญหาเรื่องของโรคระบาด และปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคใดก็ตาม ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในแง่ของห่วงโซ่อุปทาน รวมไปจนถึงปัญหาที่เราเรียกกันว่า ความตึงเครียดหรือความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น
เมื่อได้รับมอบหมายให้มาแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ก็ต้องบอกว่าด้วยเวลาที่จำกัด ผมนึกไม่ออกว่าจะสามารถบรรยายให้ครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร จึงตัดสินใจว่าสิ่งที่จะแบ่งปันต่อไปนี้ คงจะเป็นในเชิงของหลักคิดที่เน้นในเรื่องของนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเพราะว่า จริงอยู่เราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์การบริหารของแต่ละประเทศและสังคมได้ แต่เราก็ยอมรับในแง่ความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ซึ่งทำให้การนำบทเรียนในด้านการบริหารจัดการในประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้แบบสำเร็จรูป
ผมประทับใจเสมอว่า วันหนึ่งที่ผมมีโอกาสไปร่วมสัมมนาในเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่ประเทศจีน ท่ามกลางความสำเร็จและการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน ท่านประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความสำเร็จของจีน ไม่ได้นำเข้ารูปแบบการพัฒนามาจากที่ใด และไม่ปรารถนาหรือคิดที่จะส่งออกรูปแบบของการพัฒนาเช่นนี้ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ผมจะเน้นย้ำในวันนี้ก็คือ การดำเนินนโยบายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ควรมีหลักการสำคัญอย่างไร
ประการที่หนึ่ง ผมอยากให้เราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ความสำเร็จในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ดี หรือการขจัดความยากจนก็ดี ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งก็คือ กระแสที่เราเรียกว่าโลกาภิวัฒน์ ในความหมายที่ว่าประเทศต่างๆนั้นเปิดตัวเองเข้าหาโลกมากขึ้น และสามารถค้นพบโอกาสทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านอื่นๆมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราอาจไม่ได้ใส่ใจกับมันมากนัก แต่เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า อัตราการขยายตัวของการค้าโลกก็ดี การลงทุนระหว่างประเทศก็ดี มีแนวโน้มลดลง ซึ่งหมายถึงว่ามีการกล่าวขานถึงขั้นว่าเรากำลังจะถอยหลังในเรื่องของโลกาภิวัฒน์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาให้กับทุกประเทศ ดังนั้นถ้าจะมีข้อคิดประการแรกก็คือ อยากจะเห็นทุกประเทศเดินหน้าในการที่จะเปิดประเทศเข้าหากัน สนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะนั่นคือการสร้างโอกาสให้กับทุกคน และจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการพัฒนาที่ผ่านมา สามารถดำเนินต่อไปได้ เราต้องระมัดระวังไม่ให้ความขัดแย้ง ปัจจัยอื่นๆซึ่งอาจจะกลายเป็นข้ออ้าง เช่น เรื่องของความมั่นคง มาทำให้กระบวนการในเรื่องการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศลดลง และกระทบต่อการมีห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ
ประการที่สอง เมื่อเราเชื่อมโยงเข้าหากัน แต่ละประเทศมีระบบระบอบไม่เหมือนกัน สิ่งที่ทุกประเทศพึงยึดถือคือสิ่งที่เราเรียกว่ากติกาสากล นั่นหมายถึงการสนับสนุนให้องค์กรระหว่างประเทศทำงานในแบบพหุภาคี มีความเข้มแข็ง ให้การมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ ในองค์กรเหล่านี้ มีความหมายในการสะท้อนความต้องการของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง และพึงเคารพกระบวนการการตัดสินใจขององค์กรเหล่านี้ แน่นอนว่าเหมือนกับเรื่องโลกาภิวัฒน์ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่งผลทางด้านลบ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ผมเองก็เคยวิพากษ์วิจารณ์หลายองค์กร แต่ถ้าเราไม่สนับสนุนการทำงานขององค์กรเหล่านี้ กลับกลายเป็นว่าการดำเนินโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ บางประเทศสามารถเลือกเคารพกฎเกณฑ์กติกาสากล หรือไม่เคารพก็ได้ อันนี้จะเป็นอันตราย เพราะจะเป็นการทำลายความไว่ใจ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในประชาคมโลกที่เราล้วนเป็นหนึ่งของประชาคมนั้น
ประการที่สาม นอกเหนือจากการสนับสนุนองค์กรพหุภาคี ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ก็เป็นสิ่งที่จะต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เราจะพบเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า ด้วยความแตกต่างในเรื่องของระดับการพัฒนาวิถีชีวิต วัฒนธรรม หลายครั้งที่ความร่วมมือที่ไกลไปจากประเทศของตน ก็เป็นเรื่องยาก แต่ความร่วมมือระดับภูมิภาค สามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างหรือการขยายความร่วมมือที่จะกระจายออกไป อาเซียนกับจีนมีความผูกพันกันมานาน การทำงานร่วมกัน รวมทั้งการดำเนินนโยบายความร่วมมือต่างๆกับประเทศสมาชิกในอาเซียน หากใช้เวทีอาเซียนให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มพลังของความร่วมมือทางด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ประการที่สี่ เมื่อจะต้องมีการแสวงหาความร่วมมือระดับทวิภาคี สิ่งสำคัญคือ การเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน และการมองเห็นว่าเรามีอนาคตตและผลประโยชน์ร่วมกัน หลายท่านพูดตรงกันว่า สิ่งสำคัญคือการดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ให้มาสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงไม่ใช่เรื่องของนโยบายภาครัฐเพียงอย่างเดียว สื่อมวลชน ภาควิชาการ เยาวชน ล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
ประการที่ห้า การดำเนินนโยบายเพื่อสร้างความร่วมมือ ต้องเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน จริงอยู่ความร่วมมือหลายด้านเราอาจจะบอกว่า ทุกฝ่ายได้หมด แต่ความร่วมมืออีกหลายด้านก็ส่งผลกระทบในทางลบไม่มากก็น้อย กับคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเลย แต่หมายความว่าความร่วมมือที่ดี ที่ยั่งยืน คือความร่วมมือที่คำนึงถึงผลกระทบในเชิงลบ และช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม หรือความไม่เข้าใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้น ความเข้าอกเข้าใจกับมิตรประเทศ กับคู่เจรจาถือเป็นสิ่งสำคัญ
และประการสุดท้ายที่อยากจะฝากคือ ความร่วมมือที่จะนำไปสู่ความเจริญ สันติภาพ และที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ คือความร่วมมือที่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงๆแล้วต้องบอกว่าภูมิภาคนี้หรือในเอเชีย ล้วนแต่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอด และบางครั้งก็ยากที่จะสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ให้กับประเทศในภูมิภาคอื่น ผมมีประสบการณ์ในการทำงานทางการเมืองโดยตรง ที่เห็นว่าหลายเรื่องที่เกิดขึ้นมาในการสร้างความร่วมมือ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เรื่องที่ผมเคยฟังผู้นำ 3 ประเทศอยากจะสร้างความร่วมมือที่เรียกว่า 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ ละเอียดอ่อนมาก แต่การพยายามทำในลักษณะให้เกียรติซึ่งกันและกัน สุดท้ายเกิดขึ้นได้ การนำอาเซียนไปสู่การตัดสินใจสำคัญหลายครั้ง เช่นในวันที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียบอกว่าจะต้องเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรป ก็เช่นเดียวกัน จะไม่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ ถ้าต่างคนต่างคิด ต่างพูด โดยไม่คำนึงถึงเกียรติของประเทศอื่นๆที่ร่วมอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ผมมองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด ของการดำเนินนโยบายในเชิงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ด้วยความแน่นแฟ้น ความใกล้ชิดระหว่างจีนกับไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศเข้าสู่โลก จากการเคารพกติกาสากล จากการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค จากความพยายามเข้าใจที่ดีให้เกิดภาพของอนาคตร่วมกัน จากการเข้าอกเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในความร่วมมือต่างๆ และสำคัญที่สุดจากการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมมั่นใจว่าความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทย-จีน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมิติอื่นๆ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของโลกได้สร้างโอกาสใหม่ๆขึ้นมามากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และมิติอื่นๆ ของความร่วมมือ หากเราดำรงหลักการความร่วมมือเช่นนี้ มั่นใจว่าเราจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่มีสันติภาพ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน