วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ชี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ไข – แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขังให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ

Related Posts

กสม. ชี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ไข – แนะแก้ระเบียบราชทัณฑ์ว่าด้วยการแต่งกายสำหรับผู้ต้องขังให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติในเรือนจำ

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 31/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชี้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอเร่งแก้ไข

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย จำนวน 5 คำร้องต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 – ธันวาคม 2565 สรุปได้ว่า ผู้ร้องเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย (Orang Laut) อาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล โดยชาวอูรักลาโว้ยกลุ่มแรกเดินทางจากเกาะลันตา อพยพมาอาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ และเริ่มตั้งหลักแหล่งตั้งแต่ประมาณปี 2440 ปัจจุบันเกาะหลีเป๊ะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตำบลเกาะสาหร่าย ต่อมามีบุคคลอ้างสิทธิในที่ดินรวมจำนวน 3 แปลง ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะเหลีเป๊ะ จึงทำให้เกิดข้อพิพาทในพื้นที่ เช่น มีการดำเนินคดีเพื่อไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชาวเลให้ออกจากที่ดิน มีการถมหนองน้ำที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์สำหรับเดินทางไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน รวมถึงทางสัญจรของนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนสุสานซึ่งเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ส่งผลให้ผู้ร้องและชาวเลในชุมชนประมาณ 150 หลังคาเรือน หรือกว่า 500 คน ได้รับความเดือดร้อน โดยปัญหาดังกล่าวมีมาอย่างยาวนาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชน โดยรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่รับรองสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว

กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ควรได้รับการคุ้มครองในการอนุรักษ์ บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับการส่งเสริมให้สามารถดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิมจากหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ เห็นว่า ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะมาตั้งแต่ปี 2440 จนกระทั่งตั้งเป็นชุมชน มีจำนวน 320 ครอบครัว จึงต้องได้รับการส่งเสริม ให้ความคุ้มครอง และควรได้รับสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข สอดคล้องกับการที่ชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

ประเด็นที่สอง การที่กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิในที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งทับซ้อนที่ดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เห็นว่า เอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมคือ ส.ค. 1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) แปลงเลขที่ 10 และเลขที่ 11 รวมจำนวน 2 แปลง ยื่นขอออก น.ส. 3 (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) โดยระบุเนื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากหลักฐานเดิมและจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งปรากฏให้เห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีเจตนาที่จะนำที่ดินที่ชุมชนชาวเลอยู่อาศัย รวมถึงที่ดินสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวเลเกาะหลีเป๊ะมาเป็นของตน และผลจากการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงรุกล้ำที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเป็นเหตุให้มีการฟ้องขับไล่ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ มีการกีดกันการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และมีการปิดกั้นทางเดินสาธารณะซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อนด้วย

ส่วนที่ดินอีก 1 แปลง คือ ส.ค. 1 แปลงเลขที่ 7 แม้จะยังไม่ได้ขอออก น.ส. 3 แต่พบว่ามีการครอบครองที่ดินเกินกว่าที่ระบุใน ส.ค. 1 และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏว่าทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังพบว่าเอกชนผู้อ้างเอกสารสิทธิทั้ง 3 แปลง ครอบครองที่ดินเนื้อที่เกินจากหลักฐานจนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วย

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ดินทั้ง 3 แปลง เป็นการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อน แต่กรมที่ดินไม่ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชร้องขอ ตั้งแต่ความปรากฏครั้งแรกในปี 2557 เพื่อพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิแปลงพิพาทให้ถูกต้อง ส่งผลให้ชาวเลที่อยู่อาศัยบนเกาะหลีเป๊ะได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยและชาวเลที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ

ประเด็นที่สาม กรณีเอกชน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งอ้างการครอบครองที่ดิน น.ส. 3 แปลงเลขที่ 11 ปิดกั้นทางเดินสาธารณะ ส่งผลให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะรวมถึงประชาชนรายอื่นที่ใช้ประโยชน์ทางเดินสาธารณะได้รับความเดือดร้อน เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชาวเลอูรักลาโว้ยที่อยู่บนเกาะหลีเป๊ะ แต่อย่างไรก็ตามอำเภอเมืองสตูลได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ผู้ถูกร้องที่ 2 รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ปิดกั้นทางสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อเปิดเส้นทางแล้ว แต่การดำเนินคดีเพื่อเปิดเส้นทางเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งใช้ระยะเวลานาน จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่ออำเภอเมืองสตูลเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้กรมที่ดิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) เร่งรัดสอบสวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งสำรวจการถือครองและการทำประโยชน์ของชาวเลเกาะหลีเป๊ะทุกครัวเรือน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

นอกจากนี้ ให้อำเภอเมืองสตูลเร่งแก้ไขปัญหาการปิดกั้นทางเดินสาธารณะให้แก่ประชาชนบนเกาะหลีเป๊ะ และให้ร่วมกับจังหวัดสตูลตรวจสอบพื้นที่ลำรางสาธารณะ พื้นที่สาธารณะภายในชุมชนเกาะหลีเป๊ะ ได้แก่ ทางสัญจรสาธารณะ สุสานบรรพบุรุษ และจุดจอดเรือหน้าหาดเพื่อการประมง รวมทั้งให้จังหวัดสตูลและสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสตูล จัดให้มีผังเมืองเกาะหลีเป๊ะ เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นโดยสภาพหรือจากการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts