การประชุมผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย ชูเรื่องการใช้เงินสกุลสมาชิกบริกส์ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อให้ประเทศสมาชิก สามารถส่งเงินข้ามประเทศด้วยระบบของตัวเอง ถือเป็นทางเลือกใหม่ ลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลล่าร์ของสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เข้าร่วมตามคำเชิญของ นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 การร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นการร่วมในฐานะเป็นหุ้นส่วนในบริกส์ หรือที่เรียกว่า สมาชิกบริกส์ พลัส (BRICS plus) ไม่ใช่สมาชิกเต็มตัว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศสมาชิก ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่จะเข้าร่วมการประชุม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว เวียดนาม คาซัคสถาน
สาเหตุหลักทำให้บริกส์ได้รับความนิยม เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนา ต้องการสร้างความสมดุลในระเบียบโลกใหม่ เนื่องจากเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา โลกตะวันตกได้เปรียบประเทศกำลังพัฒนา อาทิ การสร้างระบบส่งเงินผ่านผู้ให้บริการสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า สวีฟ (SWIFT) ซึ่งต้องเสียค่าคอมมิสชั่น และกติกาการค้าอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับโลกตะวันตก
ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย เอธิโอเปีย และยังมีอีกกว่า 40 ประเทศ แสดงเจตจำนงต้องการเป็นสมาชิก
โดยเมื่อปี 2560 จีนได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไก BRICS Plus เพื่อเป็นเวทีระดับสูง ให้ประเทศสมาชิก BRICS และประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพ ร่วมกันหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือ เพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบพหุภาคี ทั้งนี้ มีการประชุมในกรอบ BRICS Plus มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งไทยเข้าร่วมทุกครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ปี 2560 ที่เมืองเซี่ยเหมิน จีน ครั้งที่ 2 ปี 2565 จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผ่านระบบทางไกล ครั้งที่ 3 ปี 2566 ที่นครโจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ และการประชุมที่รัสเซียครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together” เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก แนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคี เพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น