กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ สั่งการให้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.เอกนก เตาสุภาพ, พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ, พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น, พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว, พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา, พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผกก.5 บก.ป., พ.ต.ท.ฤทธิชัย ชุมช่วย, พ.ต.ท.หัตถพร ทองคำ และ พ.ต.ท.ณัติรุจน์ วัฒนะฉัตรรัตน์ รอง ผกก.5 บก.ป.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ศรัณย์ ศรีพักตร์, พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ มีมุสิก สว.กก.5 บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป.
ร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ภายใต้การอำนวยการของ นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการสายงานปฏิบัติการระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายปานทอง ถินสถิตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า (ปฏิบัติการโครงข่ายระบบไฟฟ้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประธานคณะทำงานกำกับดูแล ตรวจสอบ และป้องกันการละเมิดการใช้ไฟฟ้าจากกรณีขุดเหมืองเงินดิจิทัล
ได้ร่วมกันตรวจค้น บ้านต้องสงสัย ในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9 หลัง ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตรวจยึดของกลาง
- เครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ซึ่งกำลังถูกเปิดใช้งานอยู่ขณะเข้าตรวจค้น จำนวน 111 เครื่อง
- เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ พร้อมจอภาพ จำนวน 7 ชุด
- อินเตอร์เน็ตเราเตอร์ (Router) จำนวน 10 ชุด
- เครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งถูกแก้ไข ดัดแปลง จำนวน 10 เครื่อง
ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับและจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 ราย ได้แก่ - นายณัฐพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
- นายอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน”
พฤติการณ์ ก่อนการปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้รับแจ้งจากพลมืองดีว่ามีบ้านต้องสงสัยเป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน 1 หลัง ซึ่งมีชายวัยรุ่นเช่าไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัย แต่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บริเวณรอบบ้าน ทำให้สงสัยว่าอาจใช้ในการติดตั้งเครื่องซิมบ๊อก (Sim Box) ที่คนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สำหรับแปลงสัญญาณโทรศัพท์ไปหลอกลวงผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ลงพื้นที่ดำเนินการสืบสวนในทุกมิติจนทราบว่าผู้เช่าบ้านดังกล่าวคือ นายณัฐพงษ์ฯ อายุ 30 ปี และทราบว่า นายณัฐพงษ์ฯ ยังได้เช่าอาคารพาณิชย์และติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้โดยไม่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันอีก 6 แห่ง และยังเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยว อีก 2 แห่ง รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของนายณัฐพงษ์ฯ พบว่ามีธุรกรรมที่ต้องสงสัย ในห้วงเดือน ม.ค.66 ถึง ก.ย.67 มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท จึงเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เพื่อตรวจสอบการใช้กระแสไฟฟ้าฟ้าของบ้านต้องสงสัย ผลการตรวจสอบพบว่าบ้านดังกล่าวมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่สูงผิดปกติ ไม่สอดคล้องกับค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน จึงน่าเชื่อว่ามีการลักลอบดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อลักกระแสไฟฟ้าและนำไปใช้เปิดการทำงานของเครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจค้น จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกหมายค้นบ้านต้องสงสัยทั้ง 9 จุด
ต่อมาวันที่ 7 พ.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัยทั้ง 9 จุด ผลการตรวจค้นพบว่าบ้านทั้ง 9 หลัง มีการดัดแปลงพื้นที่เพื่อติดตั้ง เครื่องขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) พร้อมระบบระบายความร้อน โดยพบเครื่องขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ซึ่งกำลังเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของบ้านแต่ละหลังและถูกเปิดใช้งานอยู่ขณะเข้าตรวจค้น จำนวน 111 เครื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ตรวจสอบโดยละเอียดจึงพบว่าเครื่องมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านทั้ง 9 หลัง มีร่องรอยแก้ไข ดัดแปลง เพื่อให้วัดค่าปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าความเป็นจริง จึงได้ร่วมกันตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. และได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับและจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย นำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหาที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าตั้งแต่ประมาณปลายปี พ.ศ.2566 ผู้ต้องหาได้หาเช่าบ้านเพื่อต้องการใช้เป็นสถานที่ติดตั้งเหมืองขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) และได้เริ่มทยอยสั่งซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์มือสองผ่านทางกลุ่มเฟซบุ๊ก แล้วนำมาติดตั้งในบ้านแต่ละหลัง โดยว่าจ้างให้ผู้ต้องหาที่ 2 ทำหน้าที่ดัดแปลงมิเตอร์ไฟ เพื่อทำให้วัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและได้เปิดใช้งานระบบเหมืองขุดสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) ดังกล่าวเรื่อยมาจนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้น ตรวจยึดและดำเนินคดีในที่สุด ผู้ต้องหาที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าได้ทำหน้าที่ดัดแปลงมิเตอร์ของการไฟฟ้าเพื่อให้อ่านค่าได้น้อยกว่าความเป็นจริง และติดตั้งระบบไฟเพื่อใช้งานกับเครื่องขุดเหรียญสกุลเงินดิจิตอล (บิทคอยน์) โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นค่าจ้างจากผู้ต้องหาที่ 1
ตรวจสอบพบมูลค่าความเสียหาย จากการตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้า พบว่าหากไม่มีมีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า เครื่องขุดบิทคอยน์ของกลางจำนวน 111 เครื่อง จะต้องเสียค่าไฟเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่าคนร้ายได้ก่อเหตุมาแล้วเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี คาดการณ์ความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ขอประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าบ้านและประชาชนทั่วไป หากพบผู้มีพฤติการณ์ผิดปกติที่น่าเชื่อว่าอาจมีการเช่าบ้านไว้เพื่อติดตั้งหรือซุกซ่อนสิ่งของผิดกฎหมาย โปรดแจ้งเบาะแสได้ที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป