วันพฤหัสบดี, เมษายน 10, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. เสนอ คกก.ป้องกันการทรมานฯ และรัฐบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบุคคลสูญหายใน “เหตุการณ์ถังแดง” เมื่อปี 2515 และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย

Related Posts

กสม. เสนอ คกก.ป้องกันการทรมานฯ และรัฐบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบุคคลสูญหายใน “เหตุการณ์ถังแดง” เมื่อปี 2515 และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2568 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2515 เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงขณะเกิดเหตุ (ผู้ถูกร้องที่ 1) จากค่ายวัดเขาวงก์ อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ได้เข้าจับกุมบิดาของผู้ร้องที่บ้านพักและนำตัวไปที่ค่ายเกาะหลุง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง จากนั้นนำตัวไปที่ค่ายบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 29 สิงหาคม 2515 ญาติติดตามไปที่ค่ายบ้านท่าเชียด แต่ไม่พบบิดาของผู้ร้อง จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดพบตัวอีก คาดว่าได้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารฯ ผู้ถูกร้องที่ 1 โดยการทำร้ายและเผาลงในถังแดง จึงขอให้ตรวจสอบเพื่อให้ผู้ถูกร้อง 1 และรัฐบาล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ขอโทษและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ได้แก่ พยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ เอกสารประวัติศาสตร์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อชี้แจงของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุตามคำร้องนี้ การใช้อำนาจของรัฐอยู่ภายใต้การใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอยู่ในห้วงที่มีการประกาศให้จังหวัดพัทลุงเป็นเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานราชการสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาว่ากระทำผิด จากเอกสารข่าวปรากฏคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวชาวบ้าน 2 ราย ภายหลังได้ปล่อยตัวไป 1 ราย เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี แต่ยังถูกควบคุมตัวอีก 1 ราย ต่อมาญาติได้ตามหาบิดาของผู้ร้องที่ค่ายทหารในบ้านหนองไทรและบ้านคลองหมวย รวมถึงกองอำนวยการกำลังผสมที่บ้านท่าเชียด แต่ไม่พบบุคคลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง และเอกสารข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหารได้กำหนดบุคคลเป้าหมายปฏิบัติการตามภารกิจปราบปรามคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงไว้ก่อนแล้ว ซึ่งมีชื่อของบิดาผู้ร้องอยู่ในรายชื่อบุคคลเป้าหมายด้วย และเจ้าหน้าที่ทหารจากปัตตานีมาควบคุมตัวบิดาของผู้ร้องไปสอบสวนที่ค่ายบ้านท่าเชียดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2515 แต่เมื่อญาติมาตามหาตัวที่ค่ายบ้านท่าเชียด ก็ไม่พบตัวหรือร่องรอยของบิดาผู้ร้องแต่อย่างใด และเชื่อว่าได้เสียชีวิตแล้ว

เมื่อพิจารณาเอกสารข่าว เอกสารงานวิจัย และบันทึกการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงในห้วงเดือนสิงหาคม ปี 2515 โดยหลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าโจมตี กอ.ปค. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตหลายนาย ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) เข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำไปสอบสวนด้วยวิธีการทารุณกรรม ทั้งการทำร้ายโดยตีให้สลบก่อนนำไปจุดไฟเผาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร รวมถึงวิธีการอื่น ๆ ซึ่งได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำจนกลายเป็นที่รับรู้ในเวลาต่อมาว่าคือ “เหตุการณ์ถังแดง” โดยผลจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายไปกว่า 195 ราย โดยบิดาของผู้ร้องเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้เสียชีวิต และต่อมาศาลจังหวัดพัทลุงได้มีคำสั่งคดีแพ่งให้บิดาของผู้ร้องเป็นบุคคลสาบสูญ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2520

จากข้อเท็จจริงข้างต้นมีข้อบ่งชี้ในลักษณะเดียวกันที่น่าเชื่อได้ว่า การสูญหายของบิดาผู้ร้องเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งกระทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ถูกควบคุมตัวไป แม้การสูญหายของบิดาผู้ร้องจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งมีข้อจำกัดในการแสวงหาพยานหลักฐาน แต่จากพยานบุคคลเท่าที่ติดตามตัวได้และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถังแดงทำให้เชื่อได้ว่า การหายตัวไปของบุคคลดังกล่าวเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผลจากการบังคับให้สูญหายนี้ กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองไว้ จึงรับฟังได้ว่า การหายตัวไปของบิดาผู้ร้อง เป็นกรณีถูกบังคับให้สูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงขณะเกิดเหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนประเด็นการอำนวยความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยาต่อญาติหรือครอบครัวของบิดาผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สูญหายนั้น เห็นว่า แม้ครอบครัวของผู้สูญหายไม่ได้ร้องทุกข์เพื่อให้มีการอำนวยความยุติธรรมในการสืบสวนสอบสวนและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด แต่จากเอกสารข่าวเมื่อปี 2518 พบว่าตัวแทนผู้สูญเสียได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและผู้บัญชาการทหารบก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำทารุณกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารต่อประชาชนซึ่งถูกจับไปฆ่ายัดถังแดงโดยไม่มีความผิด พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำเกินขอบเขตของกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบปรากฏเพียงเอกสารข่าวการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงทำนองว่า ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าลงถังแดงเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จึงไม่ควรรื้อฟื้นสอบสวนลงโทษกัน เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ รวมถึงฝ่ายประชาชนไม่มีหลักฐานยืนยันซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตไม่ควรเรียกร้องจากรัฐบาลเนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความตั้งใจดีที่จะปราบปรามคอมมิวนิสต์ อีกทั้งไม่พบข้อมูลการดำเนินการสอบสวนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมานานกว่า 52 ปี ซึ่งผู้ปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้นได้พ้นจากราชการแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่เพื่อหาข้อเท็จจริงและไม่สามารถพิสูจน์สืบค้นความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า เมื่อผลการสืบสวนของกระทรวงมหาดไทยพบเหตุเสียชีวิตหรือสูญหายของบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในเหตุการณ์ถังแดงแล้ว ถือว่า เรื่องร้องเรียนมีมูลอันสมควรที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงผู้ที่กระทำความผิดและชะตากรรมของผู้เสียหาย การชี้แจงว่าไม่อาจดำเนินการต่อไปได้จึงไม่มีเหตุผลอันสมควร และมีผลให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม สมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ต้องดำรงชีพอย่างยากลำบากหลังจากผู้สูญหายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกบังคับสูญหาย ทั้งยังกระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริงที่เกิดขึ้น (right to know the truth) รวมทั้งมีผลให้หน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งที่เชื่อได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบังคับให้บุคคลสูญหายและผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปเสียชีวิตจริง การไม่ทำหน้าที่ของรัฐในกรณีนี้จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องและครอบครัวของผู้สูญเสียจนเกินสมควรแก่กรณี ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า รัฐบาล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการอำนวยความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยาต่อญาติหรือครอบครัวของบิดาผู้ร้องที่ถูกบังคับสูญหาย

ทั้งนี้ กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการชดเชยเยียวยา แม้การหายตัวไปของบิดาผู้ร้องและบุคคลอื่นในเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2515 ทำให้มีข้อจำกัดในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลจากการตรวจสอบน่าเชื่อได้ว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย ย่อมถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังเช่นที่รัฐบาลเคยเยียวยาความเสียหายจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของบิดาผู้ร้องที่ถูกบังคับให้สูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และให้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการหรือผลการดำเนินการให้ครอบครัวของผู้ร้องทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้ร้อง ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. 2568 และหลักการการชดเชยเยียวยาตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

นอกจากนี้ ให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงและกำหนดมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความเสมอภาค และต้องแสดงความขอโทษต่อครอบครัวของผู้สูญเสียในฐานะที่รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการของรัฐต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts