วันศุกร์, พฤษภาคม 23, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. ชี้ กรณีตำรวจนครบาลทองหล่อพิจารณาคดีล่าช้ากว่า 4 ปี เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แนะ ตร. เร่งแก้ไข

Related Posts

กสม. ชี้ กรณีตำรวจนครบาลทองหล่อพิจารณาคดีล่าช้ากว่า 4 ปี เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แนะ ตร. เร่งแก้ไข

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (ผู้ถูกร้อง) ว่าได้ทำสัญญาเช่าห้องพักแห่งหนึ่งในเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยตกลงค่าเช่าเดือนละ 5,100 บาท กำหนดเวลาเช่า 1 ปี ต่อมาผู้ร้องผิดนัดชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงขนย้ายและยึดทรัพย์สินของผู้ร้องไปจากห้องเช่าโดยผู้ร้องไม่ยินยอม เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายจากการถูกบุกรุกห้องเช่า ทรัพย์สินสูญหายมูลค่าหลายแสนบาท ผู้ร้องได้สอบถามความคืบหน้าของคดีมาโดยตลอด แต่ผู้ถูกร้องยังไม่ดำเนินการตามหน้าที่ให้แล้วเสร็จซึ่งกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องย้ายไปดำรงตำแหน่งสารวัตรกลุ่มงานตรวจสำนวนการสอบสวน 3 กองคดีอาญา สำนักกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่ยังไม่ส่งมอบสำนวนคดีกลับคืนให้แก่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อตามที่เคยมีหนังสือ 2 ฉบับ ให้ส่งมอบสำนวนการสอบสวน ต่อมาหลังจากที่มีการร้องเรียนได้มีการประสานให้ส่งมอบสำนวนอีกครั้ง แต่ผู้ถูกร้องยังไม่ดำเนินการเช่นเดิม ทำให้คดียังไม่มีความคืบหน้า

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐจัดให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกรวดเร็ว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้พนักงานสอบสวนเริ่มการสอบสวนโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา กำหนดให้มีการแจ้งผลความคืบหน้าการสอบสวนเพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ ได้รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและเพื่อเป็นการให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน และให้ผู้บังคับบัญชาจัดการควบคุม ตรวจสอบ แนะนำให้การสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบโดยเรียบร้อยไม่ชักช้า สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า นับตั้งแต่ผู้ร้องแจ้งความร้องทุกข์จนถึงปัจจุบัน มีระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปีแล้ว แต่คดียังไม่มีความคืบหน้าและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้ร้องทราบ การดำเนินการของผู้ถูกร้องจึงไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม2556 ไม่เป็นไปตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระยะเวลาการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนคดีอาญาทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นับแต่รับคำร้องทุกข์ อีกทั้งการสอบสวนคดีที่ล่าช้ายังไม่สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีผู้ถูกร้องย้ายไปปฏิบัติหน้าที่สังกัดใหม่ แต่ไม่ส่งมอบสำนวนคดีกลับคืนให้แก่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ โดยผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดไม่สั่งการมอบหมายให้พนักงานสอบสวนรายอื่นดำเนินการรับผิดชอบแทนโดยเร็ว ไม่จัดระบบบริหารงาน
ในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คดีไม่มีความคืบหน้าซึ่งกระทบสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ร้องที่เป็นผู้เสียหาย พฤติการณ์ของผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การละเลยการกระทำของพนักงานสอบสวนและผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่ออาจเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ด้วย จึงเห็นควรส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ใช้ข้อมูลตามรายงานผลการตรวจสอบกรณีนี้ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกับให้เสนอรายงานนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) เพื่อพิจารณาควบคู่กันไปด้วย โดยอย่างน้อยต้องกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้ ให้สั่งการให้สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเร่งรัดการดำเนินคดีของผู้ร้องให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า โดยให้แจ้งความคืบหน้าผลการสอบสวนให้ผู้ร้องทราบตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts