
(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 17/2568)
กสม. ตรวจสอบกรณีการขนย้ายกากแคดเมียม แนะหน่วยงานกำกับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรมตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด – ชี้ กรณีตำรวจนครบาลทองหล่อพิจารณาคดีล่าช้ากว่า 4 ปี เป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แนะ ตร. เร่งแก้ไข
วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 17/2568 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
- กสม. ตรวจสอบกรณีการขนย้ายกากแคดเมียมจากจังหวัดตากไปสมุทรสาคร แนะหน่วยงานกำกับดูแลการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมตามกฎหมายและหลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด
นายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่า กรณีตรวจพบกากตะกอนแคดเมียมที่ถูกขนย้ายจากหลุมฝังกลบของบริษัทแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งเคยประกอบกิจการถลุงโลหะสังกะสีในพื้นที่จังหวัดตากไปยังโรงงานของบริษัทอีกแห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ผู้ร้องเห็นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และกระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3 – 5) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแล จนทำให้แคดเมียมซึ่งเป็นโลหะหนักที่มีพิษต่อกระดูกและเป็นสารก่อมะเร็งรั่วไหล กระทบต่อสิทธิของประชาชนและชุมชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 และ 43 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐ รวมทั้งการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน ขณะที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 และมาตรา 10 กำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และเมื่อมีกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบโดยเร็ว
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบรับฟังได้ว่า บริษัทเอกชน ผู้ถูกร้องที่ 1 ประกอบกิจการถลุงโลหะสังกะสีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวัน ในพื้นที่ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตั้งแต่ปี 2527 ต่อมาปี 2565 ได้แจ้งเลิกประกอบการและฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมและของเสียอื่น ๆ ในบ่อฝังกลบที่สร้างขึ้นตามหลักเกณฑ์การฝังกลบ โดยได้ปรับเสถียรกากตะกอนแคดเมียมเพื่อทำลายฤทธิ์ และผสมปูนซีเมนต์เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ยื่นคำขออนุญาตขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตากได้พิจารณาอนุญาตให้มีการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม 15,000 ตัน จากหลุมฝังกลบไปบำบัดหรือกำจัดที่โรงงานของบริษัทผู้ถูกร้องที่ 2 ณ จังหวัดสมุทรสาคร อย่างไรก็ดี การนำกากตะกอนแคดเมียมออกจากบ่อฝังกลบของบริษัทผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการจัดการกากของเสียที่เป็นโลหะหนักหรือสารพิษ ตามที่กำหนดไว้ใน EIA ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ได้ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการหรือจัดทำ EIA ฉบับใหม่เสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อให้ความเห็นชอบ ประกอบกับพบว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เก็บกากตะกอนแคดเมียมบางส่วนกองไว้นอกอาคารโรงงาน โดยยังมิได้นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดหรือกำจัดที่โรงงานของผู้ถูกร้องที่ 2 รวมทั้งมีการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. แล้ว ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตากจึงมีหนังสือเพิกถอนการอนุญาตการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม และให้ขนย้ายกลับมาฝังกลบที่โรงงานของผู้ถูกร้องที่ 1 ณ จังหวัดตาก
ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสี และคณะทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม เพื่อจัดการและกำกับดูแลการขนกากตะกอนแคดเมียมจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่นที่ตรวจพบกลับไปยังบ่อฝังกลบเดิมที่จังหวัดตาก การขนย้ายเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดยนำลงบ่อฝังกลบครบทั้งหมดแล้ว และกรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำในพื้นที่โรงงาน และบริเวณโดยรอบโรงงานทุกพื้นที่กระทั่งพบว่าทุกพื้นที่มีปริมาณแคดเมียมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ประชาชนได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 2 คดี โดยเป็นการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ถูกร้องที่ 1 เกี่ยวกับขั้นตอนการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมกลับมายังโรงงานในพื้นที่จังหวัดตากว่าไม่มีการจัดทำแผนประเมินความเสี่ยง แผนฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุหากเกิดการรั่วไหล รวมทั้งไม่มีแผนการสื่อสารกับประชาชน และฟ้องร้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควรและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนที่เกิดขึ้น จากกรณีการอนุญาตให้นำกากตะกอนแคดเมียมที่ฝังกลบแล้วจากจังหวัดตากเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และ กทม. กรณีนี้จึงเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้บริษัทผู้ถูกร้องที่ 1 จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบของการประกอบธุรกิจต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) และให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกรมโรงงานอุตสาหกรรมส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้บริษัทผู้ถูกร้องที่ 2 นำหลักการ UNGPs ไปปรับใช้ในการประกอบกิจการ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ประสานความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และจัดให้มีช่องทางการสื่อสารเพื่อรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย







และให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุญาต กำกับ ควบคุม เฝ้าระวัง และติดตามการขนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกากของเสียอันตราย ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และทบทวนการพิจารณาอนุญาตเพื่อนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่เป็นกากของเสียอันตราย การพิจารณาอนุญาตดังกล่าวต้องมีการกำกับควบคุมและติดตามตรวจสอบที่ครบถ้วนและรอบด้าน
(2) มาตรการในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกระทรวงอุตสาหกรรมทบทวนการถ่ายโอนอำนาจให้อุตสาหกรรมจังหวัดพิจารณาอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน โดยเฉพาะกากของเสียอันตราย โดยให้คำนึงถึงคุณสมบัติ ศักยภาพ ประสิทธิภาพและจำนวนของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากการพิจารณาอนุญาตจำเป็นต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และใช้องค์ความรู้ที่หลากหลาย นอกจากนี้ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ศึกษานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ เพื่อกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการดูแลแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในพื้นที่ภายหลังจากการเลิกกิจการหรือปิดเหมืองแร่แล้ว และจัดการดูแลกากของเสียที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแร่