วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
หน้าแรกการเมืองถอดบทเรียน “กสทช.”แก้ปัญหา จากปาฏิหาริย์เงินเยียวยา ถึงดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”

Related Posts

ถอดบทเรียน “กสทช.”แก้ปัญหา จากปาฏิหาริย์เงินเยียวยา ถึงดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”

“…มันจึงอดคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า อาจจะมี ”ใบสั่ง” จาก “มือที่มองไม่เห็น Invisible Hand” กำลัง ”อับดุล-เล่นเอาเถิด”  กับรายงานผลศึกษาของอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดเพื่อสร้าง “ปาฏิหาริย์” ให้กับ ดีลควบรวมกิจการ แบบเดียวกับเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ ในช่วงมาตรการเยียวยาเมื่อปี 2560 นั่นเอง..”

ฉับพลันที่มีกระแสข่าวสะพัดว่า คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบจากการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” 4 ชุด ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่งตั้งขึ้นมีมติ 3 : 1 ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ”ทรูู-ดีแทค”

เป็นการ “ปิดฉาก” ความพยายามกว่า 6 เดือนในการผลักดันการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของตลาดที่หวังจะผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของตลาดโทรคมนาคมไทย หลังจากงัดกลยุทธ์ทางการตลาดทุกวิถีทางแล้วยังไม่สามารถจะโค่นยักษ์สื่อสารโทรคมนาคมเบอร์ 1 อย่างเอไอเอสลงไปได้

ซ้ำร้าย! ล่าสุดค่ายเอไอเอสยัง “ปาดหน้า” ดอดเข้าเทคโอเวอร์กิจการ บริษัท ทริปเปิลทีอินเทอร์เน็ต จำกัด หรือ 3BB และเข้าถือหุ้นใหญ่ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF)ผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์1 ของตลาด โดยไร้กระแสคัดค้านจากนักวิชากการ และเครือข่ายผู้บริโภคทั้งหลายแหล่ด้วยอีก

เสียงโทรโข่งที่ดังข้ามทวีปจาก “รักษาการเลขาธิการ กสทช.” ที่อยู่ระหว่างทัวร์ดูงานในอังกฤษ ก็ออกมาฟ้อนเงี้ยวเกรี้ยวกราดในทันทีว่า อนุกรรมการชุดต่างๆ ยังไม่มีการโหวตลงมติใดๆ ท้ังสิ้น (จะมีก็แต่เสียงโหวตของ “ลิง (เหลือขอ) แดกกล้วย” “ในสภาฯที่โหวตอุ้ม” นายกฯและ 10 รมต. ให้ได้ไปต่อโดยไม่ยี่หระกับกระแสยี้ท่วมบ้านเมืองเท่านั้น)

พร้อมกับยืนยันว่าสำนักงาน กสทช.ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก จนจำเป็นต้องขอขยายกรอบเวลาการรวบรวมข้อมูลที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.ออกไปถึงวันที่ 3 ส.ค. ดังนั้น กระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้าจึงเป็น ”เฟคนิวส์” ที่คลาดเคลื่อนสร้างความเสียหายต่อกสทช.และต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งควานหามือมืดที่ว่าออกมารับผิดชอบ

ขณะเดียวกันก็มีการแพร่เอกสารของสำนักงาน กสทช.ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุดโดยชุดแรกเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานประสานคณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ที่มี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการฯ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.เป็นประธาน อีกชุดเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ และแนวทางมาตรการเยียวยาจากการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค

คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานทั้ง 2 ชุดของสำนักงานกสทช.ข้างต้น ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ในวงกว้างถึงความเหมาะสมของสำนักงานกสทช.ในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและหาแนวทางมาตรการเยียวยาเป็นการเฉพาะ เพราะเท่ากับชี้ให้เห็นเหมือนกับว่า กสทช.ได้ “ไฟเขียว” อนุมัติดีลควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนี้ไปแล้ว และได้กำหนดเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการก่อนการควบรวม

หรือไม่ก็เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า กำลังมีความพยายามจะดำเนินการบางประการเพื่อชี้นำให้ที่ประชุม กสทช.ต้องคล้อยตามกับการอนุมัติดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ ถึงได้จัดทำมาตรการรองรับผลกระทบไว้เป็นการล่วงหน้าเช่นนี้

การดำเนินการของสำนักงาน กสทช.ข้างต้น ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งเกิดปัญหาการนำส่งเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่คลื่น 900 และ1800 MHz ในช่วงสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2556-2559 หรือเงินรายได้จากเงินเยียวยาในช่วงก่อนการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีที่ “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)” ใน กสทช.ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและติดตามเงินรายได้จากมาตรการเยียวยาดังกล่าวขึ้นมาโดยเฉพาะ

โดยในส่วนของเงินรายได้จากคลื่น 900ของ AIS ( 1 ตค.58-30 มิย.59) ระยะเวลา 8 เดือนนั้นคณะทำงานได้เคาะตัวเลขออกมาจำนวน 7,221 ล้านบาท แต่ในส่วนของเงินรายได้จากการใช้คลื่น 1800 ของ ทรูมูฟและดีพีซี ที่กินเวลาร่วม 2 ปี (16 ก.ย.56- 3ธ.ค.58) นั้น คณะทำงานตรวจสอบรายได้ ได้สรุปตัวเลขรายได้เงินเยียวยาของทรูมูฟจำนวน 13,989.24 ล้านบาทและของดีพีซี จำนวน 879.59 ล้านบาท รวม 2 ค่าย 14,868.83 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวถูกค่ายทรูปฏิเสธรับ โดยอ้างว่าสูงเกินไป

ก่อนที่สำนักงาน กสทช. จะแต่งตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาทบทวนรายได้จากเงินเยียวยา” ขึ้นมาอีกชุด ก่อนสร้างปาฏิหาริย์ตัวเลขเงินเยียวยาคลื่น 1800 ออกมาที่ 3,967.81 ล้านบาท ทั้งที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปีและฐานลูกค้าในเวลานั้นก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอีกค่ายคือ 17-18 ล้านเลขหมาย

ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมในเวลานั้น วิพากษ์กันสนั่นเมืองจนบอร์ด กสทช.พากันชิ่งหนีเผือกร้อนที่ว่ากันพัลวัน กว่าจะปิดบัญชีเงินเยียวยาที่ว่าได้ ต้องลากถูลู่ถูกังข้ามปี ไม่รู้ป่านนี้ สำนักงาน กสทช.ปิดบัญชี “ปาฏิหาริย์” เงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ 1800 ที่ว่านี้ไปแล้วหรือยัง?

เมื่อสำนักงาน กสทช.มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน 2 ชุด โดยชุดแรกคือ คณะทำงานประสานคณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งบ่งบอกความหมายอย่างมีนัยสำคัญในตัวเองอยู่แล้วว่า เพื่อประสานคณะอนุกรรมการศึกษา ทั้ง 4 ชุดและดำเนินการรวบรวมความเห็น รายงานวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปเพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช. ส่วนอีกชุดเป็นคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ และแนวทางมาตรการเยียวยาจากการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคนั้น

จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า อนุกรรมการทั้ง 4 ชุดที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้นดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ ไม่ได้สรุปผลงานการศึกษาอะไรออกมาเลย หรือ สรุปออกน้ำออกทะเล หรือจัดทำรายงานที่ยากเกินกว่ามนนุษย์ธรรมดาจะเข้าใจกระนั้นหรือ

อนุกรรมการชุดต่างๆ เขาไม่ได้สรุปรายงานว่า คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 เห็นด้วย -ไม่เห็นด้วย ชุดที่ 2 เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ชุดที่ 3 เห็นด้วยหรือ ไม่เห็นด้วย และชุดที่ 4 เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไข หรือไม่เห็นด้วยแต่มีเงื่อนไขหรอกหรือ เขาสรุปรายงานที่อ่านยาก ไม่เข้าใจและอาจต้องใช้ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์จากฮาวาร์ด หรือบอสตัส มาถอดความจึงจะเข้าใจหรืออย่างไร?

สำนักงาน กสทช.ถึงต้องจัดตั้งคณะทำงานประสานและรวบรวมข้อมูลขึ้นมาดำเนินการสรุปอีกชั้น และต้องแต่งตั้งคณะทำงานอีกชุดขึ้นศึกษาหามาตรการรองรับผลกระทบไว้เป็นการเฉพาะ

มันจึงอดคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า อาจจะมี ”ใบสั่ง” จาก “มือที่มองไม่เห็น Invisible Hand” กำลัง”อับดุล-เล่นเอาเถิด” กับรายงานผลศึกษาของอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดเพื่อสร้าง “ปาฏิหาริย์” ให้กับ ดีลควบรวมกิจการ แบบเดียวกับเงินรายได้จากการใช้งานคลื่นความถี่ ในช่วงมาตรการเยียวยาเมื่อปี 2560 นั่นเอง !!!

จริงหรือไม่ท่านประธาน กสทช.ที่เคารพ!!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts