วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรถอดรหัส พ.ร.บ.ตำรวจฯ ปฏิรูปใหม่? ยํ่าอยู่กับที่

Related Posts

ถอดรหัส พ.ร.บ.ตำรวจฯ ปฏิรูปใหม่? ยํ่าอยู่กับที่

นับถอยหลังจัดรูปโครงสร้างระบบตำรวจครั้งใหญ่หลัง “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับใหม่” ผ่านความเห็นชอบจาก “ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาวาระ 3” หนึ่งในกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับ “การปฏิรูปตำรวจ” อันเป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังรอคอยกันมานานแสนนานหลายปี

จนได้มาซึ่ง “ยกระดับความเป็นธรรมของการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกระดับ” เพื่อป้องกันการวิ่งเต้นสกัดซื้อขายเก้าอี้ตำแหน่งอันเป็นหัวใจสำคัญเพียงด้านเดียว แต่ “งานการสอบสวนคดีอาญา” จะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับ “ประชาชน” ในปัจจุบันนั้นแทบไม่ได้แตะต้องเลยแม้แต่น้อย

กระทั่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับใหม่ ผ่านเข้ารัฐสภานั้น” มิได้เป็นไปตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชน เพราะต้นฉบับจัดทำโดยคณะท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน แล้วเสนอให้รัฐบาลนั้น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)” คัดค้านไม่เห็นด้วยหลายรอบหลายประเด็น

ในที่สุดรัฐบาลต้องส่งให้ “สตช.” เป็นผู้ดำเนินการปรับแก้จัดทำร่างกฎหมายตำรวจขึ้นมาใหม่ กลายเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เข้ารัฐสภาผ่านมติวาระ 3 นั้นเป็นฉบับแปลงสารโดยวงการตำรวจมาแล้ว “มิใช่เป็นฉบับปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูป” ตามความมุ่งหมายที่จะปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…ที่รัฐสภาเพิ่งลงมติเห็นชอบในวาระสามนั้น “เป็นเพียงการได้มาซึ่งกฎหมายตำรวจใหม่เท่านั้น” แต่ยังมิใช่เป็นกลไกอันนำมาซึ่งกระบวนการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริงได้

สังเกตสาระสำคัญในกฎหมายฉบับนี้ “เน้นการจัดการภายในองค์กรตำรวจ” ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ การมีหลักประกันความเป็นธรรมของตำรวจ หรือการสรรหาคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องร่างเป็นพระราชบัญญัติเข้ามาสู่รัฐสภาพิจารณาก็สามารถแก้ปัญหาได้

ต้องเข้าใจคำว่า “รีฟอร์ม (reform) คือการเปลี่ยนรูปอันหมายถึงการปฏิรูปโครงสร้างใหม่” เท่าที่สังเกตดูในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับใหม่นี้ยังไม่ปรากฏเห็นมีกระบวนการที่จะจัดทำระบบรูปโครงสร้างตำรวจใหม่ได้อย่างแท้จริง แต่กำลังเป็นแค่การปรับปรุงเล็กๆน้อยๆ ที่มีกลุ่มตำรวจผู้ใหญ่จัดทำร่างขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง

ทว่าสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องนั้น “มิใช่เป็นเพียงการปรับปรุงพัฒนา” แต่ทุกคนต้องการปฏิรูปตำรวจแบบยกเครื่อง ดังนั้น ทำให้เป็นปัญหาว่า “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับถูกจัดทำขึ้นใหม่” จนนำเข้ามาสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้นอาจมิได้มีที่มาจากคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ไว้หรือไม่

ส่วนที่เห็นขยับดีขึ้นคงมีแต่ “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.)” คณะกรรมการผ่านการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจาก “ประชาชน” ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เพื่อสอบสวนพิจารณาความผิดนั้น อันเป็นหลักการสร้างความเกรงให้ตำรวจได้ระดับหนึ่ง

ด้วยปัจจุบันนี้ “ประชาชน” ได้รับความเดือดร้อนจาก “การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจค่อนข้างเยอะ” มักกล่าวอ้างกันบ่อยๆ ก็เช่นไม่ทำหน้าที่ ไม่รักษากฎหมาย หรือไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ แล้วยังมีการกระทำโดยมิชอบของตำรวจบางนายที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต

ฉะนั้นมองว่า “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯฉบับใหม่” เข้ามาจัดระบบตำรวจของประเทศเปลี่ยนโฉมไประดับหนึ่ง 30% เท่านั้น เพราะการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงต้องมีเนื้อหากระบวนการมากกว่านี้

จริงๆแล้ว “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯฉบับใหม่” ตามบัญญัติไว้ใน รธน.2560 กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการปฏิรูปเป็นตำรวจครึ่งหนึ่ง และไม่ใช่ตำรวจครึ่งหนึ่ง ต่อมา “นายกฯ” ก็ตั้งคณะปฏิรูปขึ้นโดยมี “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ส.ส.เป็นประธาน” จัดทำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯนั้น

เสนอ ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการอีกชุดโดย “ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน” ทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯอยู่ 2-3 ครั้งสุดท้ายคิดว่า “ร่างพอใช้ได้ระดับหนึ่ง” ก็ส่งสอบถามความเห็นแก่หน่วยงานต่างๆ ปรากฏว่า สตช. คัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับของท่านมีชัยแทบทุกเรื่องด้วยซ้ำ

ท้ายที่สุดแล้วต้องให้ “สตช.ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯขึ้นมาใหม่” โดยตัดสาระสำคัญในร่างฉบับของท่านมีชัยออกไปหลายประเด็นก่อนส่งกลับมาให้ “นายกฯ” นำเข้าเสนอสู่สภาพิจารณารับหลักการวาระแรก ก่อนผ่านการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 กลายเป็นกฎหมายตำรวจแห่งชาติที่กำลังจะบังคับใช้ต่อไป

จนมีคำถามว่า “พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่ผ่านเข้ารัฐสภาร่างขึ้นโดยอาศัยหลักการใด…?” ถ้าจะบอกว่า “อาศัยฐานตามคณะกรรมการปฏิรูปกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คงไม่ถูกต้อง” เพราะดูเหมือนเป็นการร่างกฎหมายลักษณะเกรงใจตำรวจกลัวไม่เอาด้วยมากกว่า ทำให้ไม่มีเนื้อหาการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจที่แท้จริง

โดยเฉพาะประเด็นหัวใจ “การปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง” ควรมีเนื้อหาสาระสำคัญ 4 เรื่อง คือเรื่องแรก…“ตำรวจจังหวัด” อันเป็นการกระจายอำนาจตำรวจให้สังกัดจังหวัด โดยผู้ว่าฯมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาตำรวจในจังหวัดทุกระดับชั้น พร้อมสามารถสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผ่านคณะกรรมการตำรวจจังหวัดได้ด้วย

เช่น ในสมัยก่อนปี 2535 “ตำรวจ” อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย “ผู้ว่าฯ” มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของตำรวจ และสั่งย้ายตำรวจระดับสารวัตรลงมาในจังหวัดได้ ทำให้ปัญหาตำรวจถูกร้องเรียนมีน้อย

แต่เมื่อแยกตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย แล้วตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ผู้ว่าฯ” ไม่อาจตรวจสอบการทำงานได้ แม้ประชาชนเดือดร้อนร้องเรียนอันเกิดจากการกระทำของตำรวจบางนายก็ไม่อาจทำอะไรได้ กระทั่งมี “พ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับใหม่” ก็ยังมิได้สร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารงานตำรวจในจังหวัดอยู่เช่นเดิม

ถัดมาเรื่องที่สอง…“โอนหน่วยตำรวจเฉพาะทางสอดรับกับหน้าที่ปฏิบัติ 12 หน่วย” ที่ควรต้องถูกโอนไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบตามกฎหมายให้มีอำนาจสอบสวนความผิดตามอำนาจหน้าที่ แล้วคู่กับตำรวจท้องที่ในการสอบสวนคดีสำคัญ หรือกรณีที่มีการร้องเรียนของทุกหน่วยนั้น

เช่น ก่อนนี้ที่โอนงานตำรวจดับเพลิงไปให้กรุงเทพฯ โอนงานทะเบียนรถยนต์ให้กรมการขนส่งทางบก งานทะเบียนอาวุธปืนให้กรมการปกครอง เพื่อเป็นตามมาตรฐานสากลในการปฏิรูปตำรวจสอดคล้องระบบปัจจุบัน

เรื่องที่สาม…“ยกเลิกการมียศบางส่วน” เพราะตำรวจเป็นงานระบบพลเรือนไม่ได้ถูกออกแบบจัดเป็นกองร้อย กองพัน หรือกองพล “แต่หากมียศบางครั้งก็เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานด้วยซ้ำ” ฉะนั้น เพื่อให้สอดคล้องสภาพการทำงานปัจจุบัน “ตำรวจ” ต้องถูกออกแบบให้สามารถมีอำนาจในตัวเอง

ทำตัวคล้าย “เม็ดเลือดขาว” จับสิ่งแปลกปลอมได้ไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ในเรื่องนี้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ คณะท่านมีชัยจัดทำขึ้นให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แพทย์พยาบาล การศึกษาโรงเรียนตำรวจต่างๆ เป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ เพื่อให้การทำงานมีอิสระตามวิชาชีพ สุดท้าย สตช. ไม่เห็นด้วยถูกตีตกเขียนขึ้นใหม่

ประการที่สี่…“อัยการต้องมีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนได้ตั้งแต่เกิดเหตุในคดีสำคัญ” ด้วยที่ผ่านมาตำรวจมีอำนาจในการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีเพียงองค์กรเดียว ส่วน “อัยการ” มีบทบาทเฉพาะนั่งรอสำนวนตามที่พนักงานสอบสวนส่งมาให้ทำหน้าที่ตรวจสอบส่งฟ้องคดีเท่านั้น

ถ้าหากพบพยานหลักฐานคดีนั้นไม่พอส่งฟ้อง ก็ทำได้แค่ “สั่งตำรวจสอบสวนเพิ่ม” ฉะนั้นเพื่อทำลายการผูกขาดอำนาจของตำรวจ “อัยการ” ต้องมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญ หรือเมื่อมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความยุติธรรม โดยแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ว่าด้วยการสอบสวนเพียง 2-3 มาตราเท่านั้น

แต่ว่า “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ” ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่สามนั้นค่อนข้างไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูประบบตำรวจ และงานสอบสวนอะไรที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนทั้งของตำรวจผู้น้อย และประชาชนได้มากนัก สิ่งสำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังอยู่ในขั้นระหว่างการดำเนินการตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว

เช่นนี้ก็แปลว่า “การปฏิรูปตำรวจ” ที่ถกเถียงกันมานานหลายปียุติจบลงแล้วคงไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะแม้ “รัฐบาลยังเห็นดีด้วยไม่มีปัญหาอะไร” คงต้องไปว่ากันใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต่อไป.

ขอบคุณที่มา : www.thairath.co.th

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts