ป.ป.ช. เดินเครื่องสอบ รฟท. ”35 สะพาน – 37 ลิฟท์ผู้พิการ” หาย! พลังเครือข่ายประชาชนร้องเรียนผิดสัญญาสร้าง ไล่ล่าเงินส่วนต่าง 294 ล้าน ยังลุยสอบหาไอ้โม่งสั่งเปลี่ยนชานชาลาสูงเป็นต่ำ ประชาชนถล่ม รฟท.ยับ ชี้แจงที่ไม่เคลียร์ ไม่สมเหตุสมผล ฟังไม่ขึ้น แถข้างๆ คูๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีประชาชนจำนวนมาก เข้าไปแสดงความคิดเห็น ตำหนิบนเพจเฟซบุ๊กของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ชี้แจงกรณีประชาชนโพสต์แฉว่า สะพานลอยข้ามฟากชานชาลา 35 สะพานลอย และลิฟท์ 37 ตัว หายไปจากชานชาลาของสัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 94 กิโลเมตร(กม.) โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร
ในการชี้แจง รฟท.ยอมรับว่า ตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างกำหนดให้มีสะพานลอยคนข้าม และทางข้ามเสมอระดับที่ปลายชานชาลาทั้งสอง และได้ยกเลิกก่อสร้างสะพานลอยจากที่ระบุในสัญญาจริง โดยให้เหตุผลหลักว่า เนื่องจากรถไฟทางคู่สายใต้ส่วนใหญ่เป็นสถานีขนาดเล็ก ผู้โดยสารไม่เกิน 20 คน จะใช้ทางข้ามเสมอระดับสะดวกกว่า ประหยัดงบประมาณได้ 294 ล้านบาท ทำให้ประชาชนถล่ม รฟท.ยับว่า เป็นการชี้แจงที่ไม่เคลียร์ ไม่สมเหตุสมผล ฟังไม่ขึ้น ชี้แจงแบบแถข้างๆ คูๆ ไม่ระบุรายละเอียดว่านำงบส่วนต่างไปใช้ประโยชน์ใด เงินหายไปไหน การสร้างสะพานเสมอระดับแค่หัวท้ายชานชาลา ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกต้องเดินไกล 400-700 เมตร ตามขนาดชานชาลา การยกเลิกลิฟท์โดยสารผู้พิการไม่คำนึงถึง Universal Design หรืออารยสถาปัตย์ การออกแบบเพื่อคนทุกคน
ดังนั้น รฟท. ควรยกเลิกวิสัยทัศน์ที่ประกาศว่า ”จะเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนปี 2570” รวมถึงยังตำหนิไปถึง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ รฟท. ได้หยิบยกมาอ้างในการชี้แจงว่า เคยมีหนังสือถึง รฟท.ให้ความเห็นว่า การสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามที่มีลิฟท์ไม่คุ้มค่าการลงทุน มีภาระการซ่อมบำรุงรักษาต่อเนื่องตลอดการให้บริการ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการพิจารณารายได้ของ รฟท. จากการโดยสารของสถานีขนาดเล็ก ที่มีรายได้ประมาณไม่เกินหลักพันบาทต่อเดือน ส่วนสถานีขนาดกลางที่มีผู้โดยสารมากกว่า 120 คนต่อวัน มีรายได้ประมาณหลักหมื่นบาทต่อเดือน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบลิฟท์ แสงสว่าง ที่ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 4 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน ประชาชนมองว่าการไม่เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งลิฟท์ และสะพานลอย ไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้
ที่สำคัญคือการไม่ทำตามที่ระบุในสัญญาก่อสร้าง ซ้ำรอยความผิดพลาดที่เคยเปลี่ยนแบบก่อสร้างชานชาลาสถานีจากชานฯ สูงเหมือนรถไฟฟ้าที่เสมอระดับรถไฟ ที่ประชาชน และทุกคนจะได้รับความสะดวกมาเป็นชานฯต่ำ ซึ่งไม่สะดวกในการใช้งาน จนต้องรวมพลังกันในครั้งนั้น เพื่อเรียกร้องชานฯสูงกลับคืนมา
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ล่าสุด นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ประธานภาคีเครือข่ายเข้าถึงและเท่าเทียม ได้ทำหนังสือเรื่อง ขอให้ตรวจสอบและแก้ไขการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานบนสถานีรถไฟทางคู่ ถึงนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง(ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระจ่างอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันประชาชนได้ร้องเรียนเรื่องนี้โดยตรงกับ ป.ป.ช.ด้วย และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเดิม(ปัญหาการรื้อแบบชานชาลา) ของป.ป.ช.ไม่พบเนื้องานการก่อสร้างสะพานลอย และลิฟท์โดยสารผู้พิการตามสัญญาจ้าง
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ปฎิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีหนังสือให้ รฟท. ชี้แจงใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.เหตุผลในการยกเลิกการก่อสร้างสะพานลอยคนข้าม และลิฟท์โดยสารผู้พิการ 2.งบประมาณคงเหลือจากการยกเลิกการก่อสร้างจำนวนเท่าใด นำไปใช้ดำเนินการส่วนใด และมีโครงการอื่นที่ยกเลิกก่อสร้างด้วยหรือไม่ 3.บัญชีปริมาณงาน และราคาตามสัญญาก่อสร้าง โดยทาง รฟท.ขอขยายเวลาการยื่นชี้แจงเป็นวันที่ 30 ก.ย. 65
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อร้องเรียนของประชาชนกรณี รฟท.เปลี่ยนแบบสร้างชานชาลาต่ำแทนชานชาลาสูง 110 ซม. แม้ รฟท. จะชี้แจงกับสังคมว่า ได้สั่งการผู้รับเหมายกชานชาลาต่ำ 50 ซม. ที่สร้างเสร็จแล้วกลับมาเป็นชานชาลาสูงแล้วก็ตาม.