วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวเสียงข้างน้อย ปม 8 ปี บิ๊กตู่ “เหมือนเสียงสวรรค์”

Related Posts

เสียงข้างน้อย ปม 8 ปี บิ๊กตู่ “เหมือนเสียงสวรรค์”

ภายหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง ตามคำร้องที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านขอให้ศาลวินิจฉัย โดยระบุว่า มาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันไม่เกิน 8 ปีนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ นั่นคือวันที่ 6 เม.ย. 2560 ดังนั้น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จนถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 จึงยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 8 ปี และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้

คนในสังคมไทยมีทั้งพอใจ เคารพคำตัดสินของศาล ต่อคำวินิจฉัย แต่ก็มีอีกส่วนที่ไม่พอใจ อย่างเช่นในเฟซบุ๊กทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความโดยมีสาระสำคัญระบุว่า เคารพต่อคำวินิจฉัยและขอบคุณทุกกำลังใจ นับจากนี้จะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ติดตามและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ที่ได้ริเริ่มเอาไว้ให้เดินหน้าและเสร็จสมบูรณ์ มุ่งพลิกโฉมประเทศ ตามกลยุทธ์ 3 แกน ส่วนเรื่องการเมืองและประเด็นรายวัน จะมอบให้เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป

พบว่ามีชาวเน็ต ทั้งกดโกรธ  กดไลค์  กดหัวใจ  กดหัวเราะ  กดเศร้า  กดว้าว  และกดห่วงใย  และเป็นที่น่าสังเกตว่า โพสต์ดังกล่าวไม่ได้เปิดให้มีการคอมเมนต์ ชาวเน็ตจึงเลือกใช้วิธีกดแชร์และแสดงความคิดเห็นแทน โดยมีคนแชร์จำนวนมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตามสังคมไทยจะต้องเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง แม้จะมีความคิดเห็นไม่เหมือนกันบ้าง แต่อย่าขัดแย้งกัน อย่าโกรธกัน

คำตัดสินของเสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน

ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์​ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ​ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นาย​นภดล เทพพิทักษ์

ที่น่าสนใจคือคำวินิจฉัยส่วนตน ของ นายทวีเกียรติ​ มีนะกนิษฐ์ หนึ่งในเสียงข้างน้อย ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เห็นว่าการที่บ้านเมืองอยู่ได้โดยปกติสุข มีความสงบเรียบร้อย มิใช่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องอาศัยสำนึกที่ดี (good conscience) จริยธรรม (moral) และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ (tradition) ซึ่งมีผลควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ด้วย หลายเรื่องที่แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม (not illegal but it is wrong or immoral) ก็ไม่ควรทำ เช่น การพูดเท็จ อันเป็นต้นเหตุแห่งการปิดบังหรือบิดเบือนความจริงทั้งมวล

แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ผู้ที่มีจริยธรรม หรือมีจิตสำนึกที่ดีแม้รู้ว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่ทำ ยิ่งหากเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีรากฐานมาจากหลักนิติรัฐ ย่อมมีขึ้นเพื่อให้นำมาใช้อย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เห็นได้จากพระราชปรารภที่ว่า นับแต่ได้มีการ “…พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ได้มีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองได้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพหรือความเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือหรือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจหรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองที่ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”

ข้อความตามพระราชบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายไปที่ “ผู้ใช้อำนาจ” หรือผู้บริหารที่ “เข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง” มิได้มุ่งหมายไปที่ “บุคคลธรรมดา” หรือประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้บัญญัติกฎหมายให้ประชาชนปฏิบัติก็ดี ฝ่ายบริหารผู้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายก็ดี ศาลผู้พิจารณาตัดสินลงโทษการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมหรือกฎหมายก็ดี ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ตนบัญญัติขึ้น (ฝ่ายนิติบัญญัติ) บังคับใช้ (ฝ่ายบริหาร) และตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด (ฝ่ายตุลาการ) เพราะหากผู้มีอำนาจเหล่านี้ไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีมีจริยธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่กลับกระทำตนฝ่าฝืนกฎหมายเสียเอง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น กระทำการหรือใช้ถ้อยคำหยาบคายในที่สาธารณะ เมาแล้วขับแต่ไม่ยอมเสียค่าปรับ หรือหลีกเลี่ยงการรับโทษหรือตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเองหรือพวกพ้อง ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม จะบัญญัติกฎหมาย บังคับใช้และตัดสินโทษผู้กระทำความผิดโดยสนิทใจได้อย่างไร

ทั้งเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและอาจประพฤติตนตามอย่าง คือไม่มีจริยธรรมไม่เคร่งครัดปฏิบัติตามกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรบัญญัติขึ้น ต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาล ไม่เชื่อมั่นและไม่ไยดีกับผลของคำพิพากษาของศาล ย่อมเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง ไม่สงบสุข ไม่มั่นคงจนอาจลุกลามเกิดเป็นวิกฤติของบ้านเมืองได้

ผู้มีอำนาจดังกล่าวทั้งหลายจึงควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ “จริยธรรมนำกฎหมาย หรือเคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น” มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมาย และผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้าง

อนึ่ง การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลง “สัญญาประชาคม” อยู่เรื่อย ๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้น ๆ

พอได้อ่านคำวินิจฉัยของ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ หนึ่งในเสียงข้างน้อย ก็อดจะขอขยายความซักหน่อย ทั้งนี้ จริยธรรมมาจากคำว่า จริย กับ ธรรมะ จริย หมายถึง ความประพฤติกิริยาที่ควรประพฤติ ธรรมะหมายถึง คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ กฎหมาย ดังนั้น “จริยธรรม” ก็คือ ธรรมที่เป็น ข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม

ดังนั้นสังคมไหนก็ตามหากผู้คนมีจริยธรรมจำนวนมาก จะเกิดหิริโอตตัปปะความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวบาป และความละอายใจ. ที่จะกระทำความผิด สังคมนั้นก็จะเกิดปัญหาน้อย มีความเอื้ออารีย์ต่อกัน

ต่างจากสังคมที่มีการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวด มีกฏหมายนับหมื่นนับแสนมาตรา เพื่อบังคับให้ผู้คนไม่ทำความผิด แต่หากผู้คนในสังคมนั้น ไร้จริยธรรม ไม่มีหิริโอตตัปปะ มีแต่คนจ้องจะเอาเปรียบ ละเมิดคนอื่น หาช่องว่างทางกฏหมายเพื่อเอาประโยชน์ตนเอง พร้อมที่จะทำร้ายคนอื่น หากใครความรู้ดีกว่า เหนือกว่าคนอื่นก็ใช้วิธีการเล่ห์กลเอาตัวรอดจากการกระทำความผิด

ลองเลือกเอานะครับ ถ้าเลือกได้อยากได้สังคมแบบไหน…?

สังคมที่บังคับใช้กฏหมายนับแสนนับหมื่นมาตรา แต่คนที่ฉลาดกว่า เหนือกว่าคนอื่นใช้อำนาจเพื่อรอดกฏหมาย แต่คนจนคนไร้โอกาสต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด …

กับ สังคมแห่งคุณธรรม คนมีจริยธรรมสูง คนมีหิริโอตตัปปะ ผู้คนมีความเกรงกลัวต่อบาป และความละอายใจ ที่จะกระทำความผิด!

กองบรรณาธิการ “สืบจากข่าว” : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts