กำลังเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” กับเรื่องของเอกสารที่นัยว่า เล็ดลอดออกมาจาก “สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช)” เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถูกระบุว่าเป็น “มาตรการเฉพาะ” หรือเงื่อนไขจำนวน 14 ข้อที่สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการศึกษาและรวบรวม เพื่อนำเสนอต่อบอร์ด กสทช.ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ ที่คาดว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
หลังจากกรณีดังกล่าวคาราคาซังมากว่า 10 เดือนแล้ว โดยอ้างว่าเป็นเงื่อนไข หรือ “มาตรการเฉพาะ” สำหรับ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เป็นผู้รับใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่จากกสทช. และเป็นบริษัทลูกของบริษัท New Co
มาตรการเฉพาะที่วางไว้นั้นครอบคลุมทั้งมาตรการเชิงโครงสร้าง มาตรการเชิงพฤติกรรม การรายงาน และเผยแพร่ข้อมูล โดยสรุปก็คือ การห้ามไม่ให้ TUC และ DTN ใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน ทั้งสองบริษัทจะยังคงแยกธุรกิจ การคงแบรนด์ และทำตลาดแยกจากกันระยะเวลาหนึ่ง มีการกำหนดให้ต้องส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) ทั้งก่อนและหลังการควบรวม การกำหนดให้ต้องแบ่งโครงข่าย 20% เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ การคงคุณภาพการให้บริการ คงสัญญาการให้บริการทั้งกับผู้ใช้บริการ สัญญาการทำตลาดและอื่น ๆ
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของผู้คนในสังคมที่เห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวง เป็นการ “โยนหินถามทาง” และส่งสัญญาณออกไปสู่สาธารณะว่า การพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจ “ทรูและดีแทค” ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ กสทช.และสำนักงานกสทช.ได้ดำเนินการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้อย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านในทุกมิติแล้ว มีการกำหนด “มาตรการเฉพาะ” หรือตั้งเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ขอควบรวมจะต้องดำเนินการก่อนและหลังการควบรวมธุรกิจไว้แล้วถึง 14 ข้อด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสแกนลงไปดูมาตรการเฉพาะหรือเงื่อนไขทั้ง 14 ข้อที่ว่านั้น จะเห็นได้ว่า ล้วน”ถอดแบบ”มาจากที่ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)” ที่เคยกำหนดมาตรการก่อนการไฟเขียวควบรวมธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง ให้แก่บริษัท ซีพี รีเทล ดีเวลลอป์เม้นท์ จำกัด ยักษ์ค้าปลีกและค้าส่ง และเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกับทรู ที่ขอควบรวมธุรกิจกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “เทสโก้ โลตัส” เป็นผลทำให้กลุ่มซีพี.ครอบครองตลาดค้าปลีก ค้าส่งในเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมีทั้งห้าง Makro ห้าง Lotus ร้าน Lotus Express และร้าน 7eleven อยู่ด้วยกัน
*กสทช.จ่อเจริญรอยตาม กขค.
การปล่อยข่าว “มาตรการเฉพาะ” 14 ข้อออกมาก่อนที่ กสทช.จะ “เคาะ” ดีลควบรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค” ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ น่าจะเป็นการโยนหินถามทาง เพื่ออ้างความชอบธรรมที่จะไฟเขียวดีลนี้ว่า กสทช.และสำนักงาน กสทช.ได้พิจารณาดีลควบรวมธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้อย่างรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านในทุกมิติแล้ว มีการกำหนด “มาตรการเฉพาะ” หรือตั้งเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ขอควบรวมจะต้องดำเนินการก่อนและหลังการควบรวมธุรกิจไว้แล้วถึง 14 ข้อด้วยกัน
ทั้งยังหวังผลเพื่อเบี่ยงเบนกระแสต่อต้านจากทุกภาคส่วน และโดยเฉพาะเครือข่ายเพื่อผู้บริโภคที่ยังคงถาโถมเข้าใส่กสทช.และสำนักงานกสทช.ว่า กำลังเล่น ”ปาหี่” เพื่อหวังปิดดีลควบรวมธุรกิจตาม “ใบสั่ง” กลุ่มทุนธุรกิจยักษ์ที่หวัง“กินรวบ”ผูกขาดธุรกิจในเมืองไทยเท่านั้น
โดยเฉพาะในประเด็นสุดฮือฮาว่า สำนักงาน กสทช. ไปเที่ยวป่าวประกาศว่า กสทช. ไม่มีอำนาจไม่อนุมัติ จนทำให้ กสทช. สับสนมึนงง ไปด้วยไม่ว่าตนมีอำนาจจริงๆ หรือไม่ จนต้องไปพึ่งพาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ช่วยตีความ แต่สุดท้ายก็หน้าหงาย เพราะกฤษฎีกาตอบกลับยืนยันมาถึง 2 ครั้ง 2 คราว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่จะพิจารณาได้เองตามกฎหมายของตน
บรรดาเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่สำนักงาน กสทช.กำลัง “ตีปี๊บ” อยู่เวลานี้ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่อ่อนปวกเปียก ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติอยู่แล้ว มีไว้ก็เหมือนไม่มี และไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะสามารถคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะจากการฮั้วกันของเจ้าตลาด 2 รายใหญ่ที่จะเหลืออยู่ตามข้อทักท้วงของนักวิชาการและกลุ่มองค์กรผู้บริโภค เป็นมาตรการที่ล้วนเจริญรอยตาม “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” (กขค.) ที่เคย “เสียรังวัด” ให้กับการไฟเขียวดีลควบรวม Makro- Lotus ที่ช่างบังเอิญเสียจริง ที่ก็เป็นกิจการในเครือกลุ่มทุนซีพี เช่นเดียวกับ True ที่เป็นผู้ขอควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ด้วย
*ถอดบทเรียนควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง
หาก ย้อนรอยไปในช่วงที่กลุ่มทุนซี.พี. โดยบริษัท ซีพี รีเทล โฮลดิ้งและบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งเบอร์ 1 ของเมืองไทย รุกคืบเข้าซื้อกิจการ “เทสโก้ โลตัส” จากกลุ่มเทสโก้ สโตรส์ (ประเทศไทย) ทั้งในประเทศไทย และมาเลเซีย เมื่อต้นปี 2563 ด้วยมูลค่ากว่า 3.38 แสนล้านบาท
หลายภาคส่วนได้ออกโรงคัดค้านและเรียกร้องให้ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)” เข้ามาตรวจสอบและระงับดีลควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในครั้งนั้นอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะทำให้กลุ่มซีพี.ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 53% ในเวลานั้น และมีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผงาดขึ้นไปมีอำนาจเหนือตลาดครบวงจรแทบจะเป็นการผูกขาดตลาดค้าปลีก-ค้าส่งครบวงจรของประเทศไทย
แต่ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)” ก็ดั้นเมฆ “ไฟเขียว” ดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิค “แม้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด” จนถูกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย 36 องค์กรยื่นฟ้องบอร์ด กขค.ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติควบรวมที่ว่านี้ จนป่านนี้เรื่องยังคงคาราคาซังอยู่ในการไต่สวนของศาล
อย่างไรก็ตามกว่า 2 ปีนับจากกขค. ต้อง“เสียรังวัด” ให้กลุ่มทุนค้าปลีกค้าส่งยักษ์ใหญ่ขออนุมัติให้ควบรวมกิจการจน กลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดแทบเบ็ดเสร็จนั้น แม้กขค.และสำนักงานแข่งขันทางการค้าจะอ้างว่า ได้กำหนดเงื่อนไข 7 ข้อให้ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่ง ทั้งสองรายจะต้องดำเนินการควบรวม
อันประกอบไปด้วย 1.ห้ามมิให้เครือ ซี.พี.กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดค้าปลีก-ค้าส่งในช่วง 3 ปี ยกเว้นในตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)
2.ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน)(7-eleven) และเทสโก้ โลตัส ต้องเพิ่มสัดส่วนสินค้าจากเอสเอ็มอี (SMEs) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี
3.ห้ามทั้ง 2 บริษัทใช้ข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า
4. ให้เทสโก้ โลตัสคงเงื่อนไขสัญญาและข้อตกลงที่มีอยู่กับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรายเดิม 2 ปี เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาที่เป็นคุณกับคู่ค้าเดิม
5.กำหนดระยะเวลาเครดิตเทอมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 30-45 วัน เป็นเวลา 3 ปี
6.ให้รายงานผลประกอบการต่อ กขค.รายไตรมาสเป็นเวลา 3 ปี และ 7.หลังควบรวมแล้ว ให้จัดทำ code of conduct เผยแพร่ต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตามมาตรการข้างต้นเหล่านี้ ได้รับการปฏิบัติ หรือได้ผลมาก-น้อยแค่ไหน ผู้บริโภคได้รับการปกป้องคุ้มครอง มีหนทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้นหรือไม่อย่างไรนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมามา สำนักงานแข่งขันไม่เคยรายงานหรือแถลงชี้แจงต่อสาธารณะว่า ข้อกำหนดเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติหรือไม่ ได้ผลมาก-น้อยแค่ไหน
เมื่อกลุ่มทุนยักษ์ค้าปลีกค้าส่งได้จัดทัพปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการโอนกิจการกลุ่มโลตัส Lotus’s หรือ “เทสโก้ โลตัส” เดิมเข้าไปรวมอยุ่ใน บมจ.สยามแมครโคร รวมไปถึงบรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มซีพี ในการกรุยทางไปสู่การผงาดเป็นธุรกิจค้าปลีกค่าส่งในระดับภูมิภาค ก็ทำเอา กขค.และสำนักงานฯ กขค.นั่งไม่ติดได้แต่เหวอ เพราะบริษัทไม่มีการแจ้ง หรือทำเรื่องขออนุญาตใดๆ อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้หน่วยงานกำกับดูแลตลาดสินค้าและบริการอย่าง กขค.และสำนักงาน กขค.แทบไม่มีตัวตนหรือ “มีก็เหมือนไม่มี”
ขณะที่ กสทช. กำลังเดินตามรอย กขค. แบบก้าวต่อก้าว
*เตือน กสทช.อย่าหลงประเด็น
ผู้คว่ำหวอดในวงการโทรคมนาคม ที่มีส่วนในการยกร่างกฎหมายจัดตั้ง กสทช.ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามของ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ต่อการพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคในครั้งนี้ ว่า ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง กสทช. ชุดปัจจุบันจะต้องตระหนักก็คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 และที่แก้ไขปี 2562 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่จัดตั้ง กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อาทิ ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจฯปี พ.ศ.2561 และประกาศ กทช.เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯปี พ.ศ.2549 วางกรอบให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 2 ภารกิจคือ “กำกับ และ ดูแล” ให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ป้องกันกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งการดำเนินการใดๆ จะไปกระทบต่อหลักการข้างต้นจะกระทำไม่ได้เลย
หาก กสทช.เห็นว่า ตลาดมีการผูกขาด หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดมีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการ มีอำนาจเหนือตลาด กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ กสทช.ต้องสั่งระงับห้ามดำเนินการทันที ไม่ใช่ไปพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ควบรวมกิจการด้วยข้ออ้างกฎหมายเปิดช่องให้อย่างที่ีกำลังดำเนินการอยู่นี้
สิ่งที่ กสทช. กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบในทุกมิติ หรือที่เที่ยวไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา จนนำไปสู่ข้ออ้างในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการนั้น ล้วนเป็นแค่ “มหกรรมปาหี่” เพียงเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมธุรกิจว่า กสทช.ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม พิจารณาผลกระทบในทุกมิติและมีมาตรการมาดูแลอย่างครบถ้วนแล้วเท่านั้น
ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องตระหนักดั่งภาษิตโบราณที่ว่า “ธรรมชาติของเสือต้องกินเนื้อ ธรรมชาติของวัวควายยังไงมันต้องกินหญ้า การทำธุรกิจยังไงก็ต้องการกำไร(Profit) หรือแสวงหาผลกำไร จะไปล้อมคอก ล่ามโซ่ กักกันไว้อย่างไร หากแม้มีโอกาสอันน้อยนิด มันก็ต้องเผยทาสแท้ของมันออกมา…..ฉันใดก็ฉันนั้ัน กสทช.จะไปออกมาตรการเฉพาะกี่สิบกี่ร้อยข้อที่ต้องให้ดำเนินการหลังจากควบรวมธุรกิจ ภายหลังจากที่อ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว สุดท้ายเมื่อมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดไปแล้ว ธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจที่ต้องการกำไร ยังไงก็ต้องเผยออกมาวันยังค่่ำ