วันพุธ, เมษายน 24, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินวัดใจ ก.ล.ต. สร้างความเท่าเทียมในยุคคริปโตไทยโตเร็ว

Related Posts

วัดใจ ก.ล.ต. สร้างความเท่าเทียมในยุคคริปโตไทยโตเร็ว

“….เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวยอมรับถึงการเติบโตที่รวดเร็วของคริปโตเคอร์เรนซีในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) จากผู้คนในหลากหลายอุตสาหกรรม ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องติดตามเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรม แต่คนในวงการกลับตั้งข้อสงสัยว่าช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. เมืองไทย ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่บางกฎเกณฑ์ยังหาความชัดเจนไม่ได้ เช่นการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบกะทันหัน การกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับบริษัทคริปโตไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ หรือการที่บริษัทข้ามชาติบางแห่งกระทำผิดกฎ แต่บทลงโทษที่ได้รับถูกสังคมมองว่าเบาเกินไปเมื่อเทียบกับความผิด ความลักลั่นของ ก.ล.ต.ก่อให้เกิดคำถามว่าจะอธิบายเรื่องเหล่านี้อย่างไร ก็หวังว่าจะเห็นอนาคตคริปโตไทยไม่สับสนเหมือนที่ผ่านมา…”

สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การลงทุน การธนาคาร กลายเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ในการสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม กับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ขณะที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการแข่งขันโดยรวม เพื่ออนาคตคริปโตไทยนับจากนี้จะไม่สับสน ลักลั่น เหมือนที่ผ่านมา

คริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล กำลังได้รับความสนใจจากหลากหลายวงการ โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายอำนาจสกุลแรกที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และคนทั่วโลกรู้จักกันดีที่สุด แม้ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความผันผวนของบิตคอยน์ ถือเป็นปีแห่งการเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วของบิตคอยน์ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์แล้วว่าอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลนี้จะเป็นอย่างไร หากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 16,000-17,000 มูลค่าในอนาคตของบิตคอยน์จะเป็นอย่างไร?

Tom Lee หุ้นส่วนผู้จัดการของ Fundstrat Global Advisor คาดว่าบิตคอยน์จะมีมูลค่าระหว่าง $15,000 ถึง $50,000 ในปี 2022 เขากล่าวว่าปัจจัยสองประการที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมายราคาคือ นักลงทุนปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินดิจิทัล และกฎระเบียบที่มุ่งสร้างความชอบธรรมให้กับภาคสินทรัพย์ดิจิทัล

การวิเคราะห์ของนักลงทุนก่อนหน้านี้มองว่า ในปี ค.ศ. 2024 ราคาบิตคอยน์จะอยู่เหนือระดับ $54,000 โดยจุดสูงสุดอาจเป็น $103,833 ในเดือนมกราคม 2024 แต่ก็ไม่สามารถฟันธงว่าจะเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะการคาดคะเนอนาคตของบิตคอยน์นับจากนี้จะมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อน แต่ความเคลื่อนไหวหลายอย่างของนานาชาติก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองสำหรับอนาคตของบิตคอยน์

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ประเทศแรกในโลกที่ประกาศยอมรับ ‘บิตคอยน์’ เป็นเงินถูกกฎหมายใช้จ่ายได้เหมือนเงินทั่วไป ได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานบิตคอยน์แห่งชาติ (ONBTC) เพื่อประสานความพยายามในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิตอล และเดินหน้ากลยุทธ์บิตคอยน์ เป็น “หน่วยอำนวยการพิเศษ” ที่มีอำนาจในการดำเนินการและด้านเทคนิค รายงานตรงต่อ ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล โดยสำนักงานบิตคอยน์แห่งชาติ หรือ ONBTC จะรับผิดชอบการออกแบบ วินิจฉัย วางแผน กำหนดโปรแกรม ประสานงาน ติดตามผล วัดผล วิเคราะห์ ประเมินแผนการ โปรแกรม และโครงการเกี่ยวกับบิตคอยน์ ดูแลการสร้างแนวคิดและจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับบิตคอยน์ บล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซีในเอลซัลวาดอร์ให้แก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังรับหน้าที่ในการจัดการการนัดหมายให้บุคคลที่ต้องการเข้าพบ ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล เกี่ยวกับการดำเนินการด้านบิตคอยน์และบล็อกเชนในเอลซัลวาดอร์ ให้คำปรึกษาสำหรับโครงการบิตคอยน์ในประเทศ และได้รับอนุญาตให้ร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการดำเนินการทั้งหมดที่มีผลต่อบิตคอยน์ รวมถึงเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่เข้าไปทำธุรกิจบิตคอยน์อีกด้วย

ข้อมูลล่าสุดเปิดเผยว่า ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้ถือบิตคอยน์เป็นจำนวน 2,381 เหรียญ คิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล เปิดเผยว่า รัฐบาลเริ่มซื้อบิตคอยน์ 1 เหรียญต่อวัน โดยเริ่มจากวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 หมายความว่าในตอนนี้บิตคอยน์ในมือรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ได้เพิ่มขึ้นแล้ว

ขณะที่ประเทศไทย การซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีเติบโตเร็วมาก จาก 1 แสนบัญชีในปี 2562 กลายเป็น 3 ล้านบัญชีภายใน 3 ปี ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เวลาถึง 40 ปี กว่าจะมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวยอมรับถึงการเติบโตที่รวดเร็วของคิปโตเคอร์เรนซีในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ว่า  ในช่วงที่ผ่านมาสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากผู้คนในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การลงทุน การธนาคาร การค้าเชิงพาณิชย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ (landscape) ของระบบการเงิน วิถีการประกอบธุรกิจ การทำธุรกรรม และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทั้งนี้ เทคโนโลยีเบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่และอยู่ในระยะเริ่มต้น ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องสั่งสมประสบการณ์และติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิดว่า เทคโนโลยีสามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งานและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างไร

“ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องติดตามเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรม ดังนั้น ความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลจึงเป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ขณะที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินโดยรวม สำหรับบทเรียนจากเหตุการณ์ของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. เห็นว่า มีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจและการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การออกนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ และป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดซ้ำได้อีกในอนาคต” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมืองไทย ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่บางกฎเกณฑ์ยังหาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องคอยติดตามดูว่ากฎระเบียบที่ ก.ล.ต.ประกาศออกมานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะถ้ามีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบกะทันหัน แล้วบริษัทไหวตัวไม่ทัน หรือไหวตัวช้า นอกจากจะถูก ก.ล.ต. เพ่งเล็งแล้ว ยังโดนนักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า มีพฤติกรรมดื้อแพ่งหรือเข้าข่ายกระทำความผิดโดยเจตนาหรือเปล่า?

กฎระเบียบบางอย่างครั้งหนึ่งเคยทำได้ แต่ต่อมากฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ และโดนความผิดย้อนหลัง ทั้งที่ตามหลักการของกฎหมายไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น หรือ การกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ว่า “ความสมดุล” อยู่ตรงไหน เช่นนโยบายคุมเหรียญ KUB ที่ ก.ล.ต. เคยอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ แต่ต่อมาระบุว่าไม่ถึงเกณฑ์ ก่อให้เกิดความไม่เสถียร สร้างความสับสนอลหม่านและบั่นทอนธุรกิจนี้ให้ลดความน่าเชื่อถือโดยใช่เหตุ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ อาทิ การกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนทำธุรกิจคริปโตได้เฉพาะการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถเป็นโบรกเกอร์ไลเซ่นส์ หรือ เป็นผู้จัดการการลงทุนได้ ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์กำหนด หรือการที่บริษัทข้ามชาติบางแห่งกระทำผิดกฎ แต่บทลงโทษที่ได้รับถูกสังคมมองว่าเบาเกินไปเมื่อเทียบกับความผิด

ความลักลั่นของ ก.ล.ต.ก่อให้เกิดคำถามว่าจะอธิบายเรื่องเหล่านี้อย่างไร

เมื่อเลขาธิการ ก.ล.ต.  ยืนยันว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมกับการมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม ขณะที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินโดยรวม ก็หวังว่าจะเห็นอนาคตคริปโตไทยไม่สับสนเหมือนที่ผ่านมา แต่หากกฎเกณฑ์ยังมีความหละหลวม ลักลั่น นอกจากรายเก่าจะทำธุรกิจได้ยากแล้ว รายใหม่ก็ไม่กล้าเข้ามา กลายเป็นการบอนไซธุรกิจคริปโตเมืองไทยให้แคระแกร็น และอาจถูกหลายๆ ประเทศในอาเซียนทยอยแซงหน้าไปในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts