วันศุกร์, กันยายน 27, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจคมนาคมเดิมพันค่าโง่แสนล้าน!

Related Posts

คมนาคมเดิมพันค่าโง่แสนล้าน!

คมนาคมเดิมพันค่าโง่แสนล้าน! ลุยรถไฟขยายสุวรรณภูมิ เฟส2 และ ดอนเมือง เฟส3 “อู่ตะเภาอินเตอร์” จ่อฟ้องทุบ “เมืองการบิน ตอ.และ อีอีซี” ล้มทั้งยืน

“….ดูเหมือนรัฐบาลและนักการเมืองชุดแล้วชุดเล่าจะไม่เคยจดจำ “ บทเรียนราคาแพง ” จากการดำเนินโครงการรัฐแบบ “ดั้นเมฆ-ดันทุรัง” ที่มักจบลงด้วย “ค่าโง่” ให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับ!…”

ล่าสุด! ที่กำลังจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าอีกโครงการแล้ว ก็คือ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก” ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และกองทัพเรือ เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงกว่า 2.96 แสนล้านบาทครอบคลุม 6 กิจกรรมสำคัญๆ อาทิ อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการฟรีโซนฯ เป็นต้น  โดยมีเป้าหมายจะให้เป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ รองจากสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง และยังจะเป็น Gate way โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) อีกด้วย

โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ที่ประกอบด้วย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ เป็นผู้ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมลงทุน เพราะเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดกว่า 3.5 แสนล้านบาท ก่อนจะจัดตั้ง “บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เข้าทำสัญญากับ สกพอ.เมื่อ 19 มิ.ย.63 โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี

AOT ขยาย ทสภ.-ดอนเมืองขัดสัญญาสัมปทาน!

วันดีคืนดี “คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”  ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในการประชุมเมื่อ 24 พ.ค.64  ก็มีมติเห็นชอบแผนขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ระยะที่ 2 ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 62,900 ล้านบาท  ประกอบด้วยการ ขยายอาคารผู้โดยสาร “เทอร์มินัล 2 ” ด้านทิศเหนือ (North Expansion) หรือที่เรียก“เทอร์มินัลตัดแปะ” ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก และตะวันตก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิให้ได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี 

เป็นแผนขยายศักยภาพของสนามบินที่ไม่ได้อยู่ใน Master Plan แม้แต่น้อย เพราะแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเดิมกำหนดให้มีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร Terminal หลังที่ 2 ด้านทิศใต้ (ฝั่งถนนบางนา-ตราด)

แม้ 12 องค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรม ที่นำโดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ รวมทั้งองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT จะออกโรงทักท้วงไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้ออกโรงทักท้วงไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ถึง 2 รอบ เนื่องจากผิดไปจากแผนแม่บท Master Plan ที่กำหนดให้มี 2 เทอร์มินัลเท่านั้น คืออาคารผู้โดยสาร 1 ด้านทิศเหนือใกล้มอเตอร์เวย์ และอาคารผู้โดยสาร 2 ด้านทิศใต้ และ หาก ทอท.จะขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ก็ควรหันไปขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกและตะวันตกที่อยู่ในมาสเตอร์แพลนอยู่แล้วแทน จะเหมาะสมกว่า    

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ยังเห็นชอบรายงานผลศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของท่ากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” นำเสนอ และเห็นควรให้กระทรวงคมนาคมกลับไปดำเนินการทบทวนการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวทางที่ สศช. และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติตามมา

แต่ทั้ง AOT และกระทรวงคมนาคมต่างเมินเฉยเสียงทักท้วง เหล่านี้ ยังคง “ดั้นเมฆ” ให้ AOT ลุยไฟโครงการก่อสร้าง “เทอร์มินัลตัดแปะ” ที่ว่านี้ ชนิดที่เรียกว่า “ช้างทั้งโขลงก็รั้งไม่อยู่”

 ไม่เพียงการลุยไฟขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมินอกมาสเตอร์แพลน ทอท.ยังจัดทำแผนพัฒนาขยายขีดความสามารถของสนามบินดอนเมือง ระยะ 3 วงเงินลงทุนกว่า 36,000 ล้านเพื่อให้รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคน เป็น 50 ล้านคนต่อปีตามมาอีก

โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 ได้อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนกว่า 36,829 ล้านตามที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกระทรวงคมนาคมเสนอ

เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์  ประธานคณะกรรมการบริหาร ยูทีเอ (UTA )

UTA ฮึ่ม! รัฐละเมิดสัญญาสัมปทาน

ผลพวงจากนโยบายของรัฐในการไฟเขียวโครงการขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ข้างต้น ทำให้ เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์  ประธานคณะกรรมการบริหาร ยูทีเอ (UTA ) ทำหนังสือลงวันที่ 26 ม.ค. 65 ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อทักท้วงกรณีที่รัฐบาลจะอนุมัติให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากมาสเตอร์แพลนที่วางไว้

ในหนังสือร้องเรียนของ UTA ระบุว่า ก่อนที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS) ที่ประกอบด้วย บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) , บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะเข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกนั้น บริษัทได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผล ความจำเป็นของรัฐในการผลักดันโครงการนี้ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่มีอยู่เดิมของสนามบินสุวรรณภูมิ (รวมโครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ฝั่งทิศใต้) มีจำนวน 60 ล้านคนต่อปี และสนามบินดอนเมืองมีจำนวน 30 ล้านคนต่อปี ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากได้

เมื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมลงทุน และได้จัดตั้งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เข้าทำสัญญากับรัฐ ก็ได้นำข้อมูลภาครัฐข้างต้นมาประกอบในการทำสัญญา ดังนั้น โครงการพัฒนาขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนที่อยู่นอกเหนือ “มาสเตอร์แพลน” เดิม จึงเป็นการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นไปจากข้อมูลโครงการฯ ของภาครัฐที่ได้เปิดให้ร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ อันจะส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสาร ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก จนไม่คุ้มค่าการลงทุน และทำให้นักลงทุนที่จะมาร่วมพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกอาจไม่ตัดสินใจมาร่วมลงทุน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายของรัฐบาลได้ 

พิลึก! ลุยไฟ ทสภ.โดยไร้ กม.รองรับ?

น่าแปลก! นโยบายของกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้ AOT เดินหน้าโครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ที่จะก่อสร้าง “เทอร์มินัลตัดแปะ” ด้านทิศเหนือ North Expansion ควบคู่ไปกับการขยายอาคารผู้โดยสาร ฝั่งตะวันออกและทิศตะวันตก (East-West Expansion) ที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้สนามบินสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคนนั้น

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นการดำเนินการภายใต้การกำกับของ ”คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”  ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเท่านั้น โดยไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ และไม่ได้มีการนำเสนอ “สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  กระทรวงการคลัง” และโดยเฉพาะ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแม้แต่น้อย

มิหนำซ้ำเมื่อ UTA ทำหนังสือทักท้วงไปยังนายกฯ ในฐานะประธาน กพอ.เพื่อให้พิจารณาสั่งการให้กระทรวงคมนาคมและ AOT ได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ ที่ 2 และท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่ UTA มีอยู่กับรัฐ

แต่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ กลับมอบหมายให้ ทอท.ไปพิจารณาตรวจสอบ การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ของ ทอท. มีลักษณะส่งผลกระทบต่อการประกอบการ หรือการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกอันเป็นการกระทำที่ผิดต่อสัญญาร่วมลงทุนตามข้อใดหรือไม่ อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทและฟ้องร้องต่อรัฐได้ และให้กระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งยืนยันผลการพิจารณาไปให้ สกพอ. รับทราบด้วย

จนก่อให้เกิดคำถาม หากตรวจสอบพบว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะขัดแย้งต่อสัญญาสัมปทานที่มี  กระทรวงคมนาคม และ AOT จะยอมทบทวนแผนการดำเนินโครงการตนเองหรืออย่างไร ?

* ถอดบทเรียนค่าโง่ ”โทลล์เวย์-ทางด่วน NECL”

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนไปพิจารณา “บทเรียน” ในอดีตจากการที่รัฐดำเนินโครงการที่ไปละเมิดสัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับเอกชน จนในท้ายที่สุดแล้วต้องจบลงด้วย “ค่าโง่” ทิ้งไว้ให้ประชาชนคนไทยต้องรับกรรมนั่นก็คือ การที่กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลอนุมัติให้กรมทางหลวง และบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ก่อสร้างทางยกระดับโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดหน้าสนามบินดอนเมือง และชดเชยความเสียหายจากการที่รัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่เพื่อสร้างทางเชื่อมยกระดับ”ลูปแรมป์” บริเวณแยกหลักสี่ และบางเขน ให้แก่คู่สัญญาเอกชนตามสัญญาได้

แม้จะเป็นเรื่องของความจำเป็น แต่การดำเนินการดังกล่าวกลับกลายเป็นการละเมิดสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางประอินที่ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)” มีอยู่กับบริษัท กรุงเทพตอนเหนือ (NECL) บริษัทลูกของ BEM  เพราะสัญญากำหนดไว้ว่ารัฐต้องชดเชยให้แก่คู่สัญญาหากมีการก่อสร้างทางแข่งขันขึ้นมา ท้ายที่สุดเมื่อบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานนำคดีพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการชี้ขาด กทพ.ต้องเป็นฝ่ายพ่ายคดีพิพาทต้องชดเชยความเสียหายแก่บริษัทกว่า 4,318 ล้านบาท ก่อนที่บริษัทจะนำคดีฟ้องศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุด จนนำมาสู่การเจรจาขยายสัญญาสัมปทานให้แก่เอกชนไปถึง 15 ปี 8 เดือน ในรัฐบาลชุดปัจจุบันนั่นแหล่ะ

โครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะ 2 และท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 ที่กระทรวงคมนาคม และ ทอท.ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ที่เป็นการดำเนินการภายหลังจากรัฐบาลและ กพอ.ได้ให้สัมปทานการพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกไปแล้วนั้น จึง “สุ่มเสี่ยง” เรียกแขกให้งานเข้า จ่อจะต้องจบลงด้วย “ค่าโง่” กันอีกโครงการ

เพราะมีตัวอย่างโครงการสัมปทานทางยกระดับและถนน “โฮปเวลล์” มูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาทของการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมในอดีตที่ต้องจบลงด้วย “ค่าโง่โฮปเวลล์” กว่า 30,000 ล้านบาท ที่จนป่านนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้เลยว่า  ใครจะต้องรับผิดชอบในค่าโง่กว่า 30,000 ล้านที่เกิดขึ้น.?!!

และหากโครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (เทอร์มินัลตัดแปะ) และขยายศักยภาพของท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ต้องจบลงด้วย “ค่าโง่” อีกโครงการในอนาคต บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท.( AOT) ตลอดจนนักการเมืองและรัฐบาลชุดนี้ที่มีส่วนร่วมในการร่วมสังฆกรรมอนุมัติโครงการออกมา จะแอ่นอกออกมารับผิดชอบในความเสียหายทั้งมวลที่เกิดขึ้นหรือไม่???

ฯพณฯ ท่าน “ว่าที่นายกฯ อนุทิน ชาญวีรกุล” ช่วยตอบทีเหอะ!!!

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts