วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินไทม์ไลน์ ความพินาศ Zipmex ส่อนายทุนถอนตัว “ผลพวงยุค รื่นวดี เลขาฯ ก.ล.ต. 65” บอร์ดฯปวดกระบาล แต่รื่นวดี...

Related Posts

ไทม์ไลน์ ความพินาศ Zipmex ส่อนายทุนถอนตัว “ผลพวงยุค รื่นวดี เลขาฯ ก.ล.ต. 65” บอร์ดฯปวดกระบาล แต่รื่นวดี อยากอยู่ยาว ขอคัดสรรต่ออีกวาระ

“…การคัดสรร เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ ปี 2566 ในรอบนี้ รื่นวดี ผู้คุมกฎหน่วยงานกำกับ ก.ล.ต. กับผลงานรอบปี 2565 ชิ้นโบว์ดำ  ชิ้นใหญ่คละคลุ้ง คือปม zipmex พานักลงทุนสิ้นหวังจากเสียหาย 2,000 ล้านบาท  เข้ารับการคัดเลือกต่อด้วย ถ้าหากรื่นวดีเข้ารอบผ่านไปต่อได้ ก.ล.ต ไทยไม่รู้จะอยู่ในสภาพอย่างไร ทั้งที่ผลงานปี 2565 คาหนังคาเขาหลายกรณี มีปัญหาทั้งวงการตลาดทุน หุ้นปั่น ปล้นโบรกฯ บอนไซคริปโตฯ แถมด้วยการการันตีความย่อยยับ  zipmex สดๆร้อนๆในเดือนมีนาคม 2566 ส่อเจ๊ง เข้าไปอีก  เพราะเงินเพิ่มทุนค้างท่อ ส่อลอยแพนักลงทุนไทย ขืนบอร์ด ก.ล.ต. พิจารณากันแบบห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงการเมืองภายในมากกว่าความโปร่งใสของตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ เขียนบทรอล่วงหน้าได้เลย  งานนี้ต้องมีคนซวย…”

ลือ Zipmex เตรียมเลิกกิจการ หลังนักลงทุนหยุดเพิ่มเงิน นายทุนถอนตัวเลิกอุ้ม-แจ้งพนักงานรับสภาพ

รายงานจากแหล่งข่าวภายใน ระบุถึงสถานภาพความร่อแร่ของ Zipmex ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหลังจากที่ V Ventures ภายใต้การบริหารของ “เจ้าสัวกึ้ง” (เฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาท “ประยุทธ มหากิจศิริ” เจ้าพ่อเนสกาแฟ โดยปัจจุบัน กึ้ง เฉลิมชัย นั่งเก้าอี้บริหารกลุ่ม บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ได้หยุดการจ่ายเงินเข้าสนับสนุนงวดที่ 4 เพื่อประคองธุรกิจไม่ให้ต้องปิดกิจการ โดยล่าสุดทาง Zipmex ได้มีการจ่ายเงินให้กับทางพนักงานบางส่วนเพื่อรับทราบถึงการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน โดยจะค่อยๆทยอยปรับลดพนักงานบางส่วนลง ก่อนที่จะปิดกิจการในที่สุด

“ขณะนี้ Zipmex กำลังประสบปัญหาเรื่องกระแสเงินสด และเราจะไม่สามารถจ่ายเงินเต็มจำนวนสำหรับเดือนมีนาคม 2023 นี้ ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีเนื่องจากเราได้ลงนามในข้อตกลงการลงทุนในเดือนธันวาคม 2565 กลุ่มทุนที่เข้ามาช่วยเหลือ จะต้องจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจในงวดรายเดือน แต่ล่าสุด ณ วันนี้ เรายังไม่ได้รับเงินตามกำหนดเวลาของงวดนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามหลายครั้งก็ตาม แต่กลุ่มทุนดังกล่าวก็เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทอาจต้องปิดกิจการลง” เอกลาภ ยิ้มวิไล กล่าวถึงปัญหาและแจ้งให้พนักงานรับทราบในอีเมลที่ส่งให้กับพนักงาน Zipmex Technology

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex เสนอตัวเข้าพบสรรพากร เพื่อสะท้อนความรู้สึกของนักลงทุน ▻ Siam Bitcoin
เอกลาภ ยิ้มวิไล

ทั้งนี้ V Ventures มีกำหนดที่จะต้องจ่ายเงินงวดที่ 4 มูลค่า 1.25 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 40 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ภายในวันที่ 23 มีนาคม แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวปรากฏว่ายังไม่มีเงินเติมเข้ามาใน Zipmex แม้ว่าทาง Zipmex จะยังคงคาดหวังว่าเกิดอุปสรรคจากความล่าช้า แต่ปรากฎกว่าไม่มีการตอบรับใดๆจาก V Ventures

“เรายังคงหวังว่าการโอนเงินงวดรายเดือนโดย V Ventures จะล่าช้าเพียงเล็กน้อย แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจเลวร้าย ซึ่งไม่อย่างให้เกิดขึ้น” ข้อความจาก เอกลาภ ที่ระบุในอีเมล

“การที่ V Venturesไม่จ่ายเงินมาให้ อาจทำให้พนักงานมากกว่า 100 คนจะไม่ได้รับเงินเดือนในเดือนมีนาคม”

ทั้งนี้ V Ventures โดย คุณกึ้ง เฉลิมชัย เป็นกลุ่มทุนเดิมของ Zipmex ได้ลงนามข้อตกลงมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์กับบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแลกกับสัดส่วนการถือหุ้น 90% จากการที่ Zipmex ประสบปัญหาในเดือนกรกฎาคม เมื่อระงับการถอนเงินของลูกค้าเนื่องจากการที่ Zipmex นำเงินของลูกค้าชาวไทยเข้าไปลงทุนอย่างผิดกฎหมายใน Babel Finance และ Celsius ซึ่งต่อมาทั้ง Babel Finance และ Celsius ประสบปัญหาล้มละลาย โดย Zipmex ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายรวมไว้ที่ ไว้ที่ 53 ล้านดอลลาร์

คุณกึ้ง เฉลิมชัย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อตกลงกับ V Ventures มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว Zipmex จึงได้ปรึกษาร่วมกับทางทีมทนายความของตน เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบุในอีเมลที่ส่งให้กับผู้ถือหุ้นว่า “หาก V Ventures ไม่สามารถโอนเงินทุนหมุนเวียนที่กำหนดไว้ในเดือนมีนาคม 2566 ได้เราอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเริ่มดำเนินการด้านบัญชีสำหรับ Zipmex Technology Company Limited”

ซึ่งหลังจากกระแสข่าวลือนี้ออกไป ราคาเหรียญ ZMT ร่วงกราวรูดลงมากว่า 56.9% โดยล่าสุด ณ เวลา 17.25 น. ลดลงมาอยู่ที่ ฿1.51 /เหรียญ

ด้าน Marcus Lim ผู้เป็น CEO ปฏิเสธที่จะออกความเห็นเนื่องจากติดสัญญาความลับ (bound by confidentiality) และ V Venture ก็ยังไม่ได้มีการตอบกลับใดๆ

เปิด Timeline เหตุการณ์ Zipmex แบบละเอียด

วันที่ 14 ต.ค. 2563 Zipmex เปิดตัวและเริ่มโปรโมทผลิตภัณฑ์ Zipup

วันที่ 15 มี.ค. 2565 Zipmex แจ้งเปิดตัวและปรับเปลี่ยนชื่อจาก Zipup เป็น Zipup+ ทาง Email ผู้ใช้งาน

วันที่ 9 พ.ค. 2565 เกิดเหตุการณ์เหรียญ LUNA

วันที่ 13 มิ.ย. 2565 บริษัท Celsius ประกาศระงับการถอนเงิน

วันที่ 17 มิ.ย. 2565 บริษัท Babel Finance ประกาศระงับการถอน

วันที่ 20 มิ.ย. 2565 แม้บริษัท Celsius และบริษัท Babel Finance ซึ่งเป็นคู่ค้า ประกาศระงับการถอนเงินไปแล้ว แต่ Zipmex ยังคงส่งอีเมลชักชวนให้นักลงทุนสมัครใช้บริการ Zipup+

วันที่ 20 ก.ค. 2565 เวลา 19.00 น Zipmex Thailand ประกาศระงับการถอนเหรียญ บนศูนย์ซื้อขายโดยบริษัทอ้างว่า ประสบปัญหาจากกรณีที่สินทรัพย์ดิจิทัลในโปรแกรม Zipup+ ที่นำไปฝากกับ Zipmex Global (ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ Celsius และ Babel Finance) ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัล ใน Zipup+ ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้

วันที่ 22 ก.ค. 2565 Zipmex ได้มอบหมายให้สำนักงานทนายความ มอร์แกน ลิวอิส สแตมฟอร์ด แอลแอลซี ดำเนินการยื่นขออนุญาตหยุดพักชำระหนี้

วันที่ 25 ก.ค. 2565 ผู้เสียหายชาวไทยรวมตัวกันเข้ายื่นคำร้องกับหน่วยงาน DSI

วันที่ 27 ก.ค. 2565 ผู้เสียหายนำส่งหลักฐานสมทบไปที่เลขคดีเดิมของวันที่ 25 กรกฎาคม และในวันเดียวกันกรรมาธิการ การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เรียก ก.ล.ต. และ Zipmex (Thailand) ให้เข้ามาชี้แจง ซึ่งปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานกรรมาธิการฯ ได้ตั้งคำถามถึงบริการ ZipUp+ ว่าเป็นบริการที่ไม่อนุญาตให้คนที่ถือใบอนุญาตทำ แต่ต้องถาม ก.ล.ต. ว่าทราบเรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ และได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ทาง ก.ล.ต. เพิ่งทราบว่า Zipmex มีบริการที่ชื่อว่า ZipUp วันที่ 20 ก.ค. 2565 ซึ่งแทบจะไม่น่าเชื่อเลย เนื่องจาก ก.ล.ต. มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ถือใบอนุญาตที่ประกอบธุรกิจกระดานซื้อขายในไทยอยู่แล้ว ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเป็นประจำ และผู้เสียหายจากบริการ ZipUp ก็มีมากกว่า 61,000 ราย น่าตกใจที่ ก.ล.ต. จะไม่รับรู้เรื่องนี้ แต่หากรับทราบ ทำไมถึงไม่ออกแถลงเตือนว่าผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นตรงกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ เป็นบริการที่มีความเสี่ยงและไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. จึงต้องตั้งคำถามว่าหากทาง ก.ล.ต. นั้นทราบเรื่องอยู่แล้วก็เป็นการทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือละเลยอย่างไร  แต่หากทางก.ล.ต. ตอบว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อนเลยก็ต้องตั้งคำถามถึงความสามารถในการทำงานของ ก.ล.ต.

วันที่ 28 ก.ค. 2565 ซิปเม็กซ์ กรุ๊ป ขึ้นประกาศบนเว็บไซต์ว่า บริษัทฯได้ยื่น “Moratorium relief” ต่อศาลสิงคโปร์ สำหรับกิจการในกลุ่มของ Zipmex รวมทั้ง Zipmex ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการประกาศย้อนหลังว่าตนได้ยื่นขอพักชำระหนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565

วันที่ 29 ก.ค. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. ออกมาชี้แจงรายละเอียดเรื่อง Zipmex ประสบปัญหาสภาพคล่อง ผ่านการตอบคำถามในไลฟ์ โดยมีประเด็นสำคัญของการชี้แจงคือ สำนักงาน ก.ล.ต. เพิ่งรับทราบข้อมูลเรื่อง Zipmex ที่สิงคโปร์ยื่นขอพักชำระหนี้จากสื่ออื่นๆ โดยไม่ได้รับการชี้แจงจาก Zipmex ประเทศไทย ส่วนประเด็นว่า ก.ล.ต. เคยรับทราบเรื่องบริการ ZipUp+ หรือไม่ คำตอบก็คือเพิ่งมาทราบเรื่องบริการ ZipUp+ พร้อมกับผู้เสียหายตอนที่เกิดปัญหาขึ้นจากการดูข่าวในช่วงที่ผ่านมา

วันที่ 1 ส.ค. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. โดยเลขาธิการ ก.ล.ต. ตั้งทีมทำงานร่วมกันกับตัวแทนผู้เสียหาย

วันที่ 4 ส.ค. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายเข้าทำงานกับทีม ก.ล.ต. ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ครั้งที่ 1

วันที่ 15 ส.ค. 2565 ศาลสิงคโปร์ได้พิจารณาอนุญาตคำขอพักชำระหนี้ตามที่ซิปเม็กซ์ร้องขอ โดยครอบคลุมระยะเวลาจนถึงวันที่ 2 ธ.ค.65 ซึ่งส่งผลให้ทั้ง 5 บริษัทของซิปเม็กซ์ได้รับการคุ้มครองพักการชำระหนี้ตามระยะเวลาเป็นการชั่วคราว

วันที่ 18 ส.ค. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายเข้ายื่นหนังสือขอรับทราบความคืบหน้า กับสำนักงาน ก.ล.ต.

วันที่ 19 ส.ค. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายเข้าให้การกับตำรวจ ณ กรมสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และในวันเดียวกันตัวแทนเข้าพบทีมทำงาน ที่กองคดีการเงิน การธนาคาร และการฟอกเงิน ครั้งที่ 1

วันที่ 31 ส.ค. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศลงโทษปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ตามความผิดมาตรา 30 และ 31 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นจำนวนเงิน 1,920,000 บาท จากเหตุหยุดให้บริการนักลงทุนโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) และระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet ซึ่งผ่านไป 1 เดือนเต็มเพิ่งเริ่มปรับทั้งสิ้น 1.92 ล้านบาท จากความเสียหายระดับสองพันล้าน

วันที่ 5 ก.ย. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายส่งหลักฐาน (เลขกระเป๋าดิจิทัลของ Zipmex) ผ่านช่องทางออนไลน์ (e-mail) ให้กับหัวหน้าทีมตรวจสอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

วันที่ 7 ก.ย. 2565 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ Zipmex และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้า และรายละเอียดเกี่ยวกับรายการโอนหรือถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

วันที่ 17 ก.ย. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. มีการเผยแพร่ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 154/2565 กรณีสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ Zipmex แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งศาลสิงคโปร์

วันที่ 11 พ.ย. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายเข้ารับทราบความคืบหน้ากับ 3 หน่วยงาน (DSI , สอท 1 , ก.ล.ต.) ณ ศูนย์ราชการ

วันที่ 12 พ.ย. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. มีการเผยแพร่ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 201/2565 กรณีสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ Zipmex จัดทำรายงานสรุปการดำเนินการตามคำสั่งศาลสิงคโปร์

วันที่ 2 ธ.ค. 2565 การพิจารณาคดีต่อหน้าแผนกทั่วไปของศาลสูงสิงคโปร์ เพื่อสอบถามประเด็นการช่วยเหลือเจ้าหนี้ของ Zipmex โดยศาลได้แสดงความกังวลอย่างมาก และชี้ว่าพฤติกรรมของ Zipmex ในการชิงจ่ายเงินให้ผู้เสียหายในประเทศอินโดนีเซียก่อนผู้เสียหายในประเทศอื่นพร้อมๆ กัน เป็นสิ่งที่ศาลรับไม่ได้ เมื่อมาขอความคุ้มครอง แต่กลับมีพฤติกรรมลับหลังศาล โดยศาลชี้ว่าอย่างน้อยก็บอกศาลว่ามีแผนจะทำอะไรต่อ ซึ่งทาง ก.ล.ต. ไทยไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์นี้

วันที่ 20 ธ.ค. 2565 ตัวแทนผู้เสียหายขอเข้ารับทราบความคืบหน้า ณ สำนักงาน ก.ล.ต. และในวันเดียวกันสำนักงาน ก.ล.ต. มีการเผยแพร่ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 234/2565 กรณีสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อตกลงส่วนบุคคลภายใต้โครงการ ZipUp+

วันที่ 21 ธ.ค. 2565 สำนักงานก.ล.ต. สรุปกรณีของ Zipmex ว่า ได้บังคับใช้กฎหมายแก่นายเอกลาภ ตามมาตรา 94 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล และ Zipmex ตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวม 2,615,000 บาท โดยมีเนื้อเพิ่มเติมนอกเหนือการการเปรียบเทียบปรับครั้งแรก คือการที่แจ้งความเสี่ยงให้กับผู้ตัดสินใจลงทุนผิดพลาด ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นที่สังเกตได้ว่าทุกการกระทำของ ก.ล.ต. ตั้งแต่ต้น เกิดจากการที่ผู้เสียหายร้อนใจและยื่นเรื่องถามถึงก.ล.ต.ก่อนตลอด ก.ล.ต.ไม่เคยทำงานเชิงรุกใดๆกับกรณีของ Zipmex  หรือไม่

วันที่ 30 ธ.ค. 2565 สำนักงาน ก.ล.ต. มีการเผยแพร่ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 244/2565 กรณีสำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อตกลงส่วนบุคคลภายใต้โครงการ ZipUp+ เพิ่มเติม ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ใช้วิธีการเผยแพร่ข่าว ราวกับว่าเป็นหน้าที่หลักเมื่อเผยแพร่ข่าวแล้วก็แล้วกันไป แบบขอไปที?

วันที่ 6 ม.ค. 2566 Zipmex ประกาศเลื่อนกำหนดการยื่นเอกสารต่อศาลสิงคโปร์ จาก 6 ม.ค. 2566 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด น่าสังเกตว่าพฤติกรรมของ Zipmex เป็นเพียงการประวิงเวลาจนกว่าแผนการถูกเข้าซื้อกิจการจะสำเร็จหรือไม่

วันที่ 30 ม.ค. 2566 ตัวแทนผู้เสียหายเรียนพิจารณาเรื่องขอเข้าพบหารือกับทาง ก.ล.ต. เกี่ยวกับกรณีการได้รับผลกระทบและความเสียหายจากบริษัท Zipmex Thailand

วันที่ 2 ก.พ. 2566 Zipmex ประกาศ Delist เหรียญคริปโตออก 18 เหรียญ โดยชี้แจงเหตุผลว่า “ซิปเม็กซ์จะพิจารณาแผนการปรับปรุงการดำเนินงาน และจะทำการประเมินเหรียญ/โทเคนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าเหรียญ/โทเคนทั้งหมดบนแพลตฟอร์มจะยังคงมีคุณสมบัติที่ได้มาตรฐานในการให้บริการ และสามารถมอบสิทธิประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าทุกท่าน” เป็นที่ตั้งคำถามว่าแล้วเหรียญ ZMT ของตัวเองที่ขาดคุณสมบัติเหมือนกัน ได้พิจารณา Delist ด้วยหรือไม่

วันที่ 9 ก.พ. 2566 ตัวแทนผู้เสียหายเข้าขอรับความคืบหน้า กับทีมทำงาน ก.ล.ต. ณ สำนักงาน ก.ล.ต.

วันที่ 23 มี.ค. 2566 ตัวแทนผู้เสียหายเรียนสอบถามเรื่องที่บริษัท Zipmex Thailand ได้มีการกล่าวอ้างว่าติดต่อกับทาง ก.ล.ต. เป็นระยะ

วันที่ 24 มี.ค. 2566 มีข่าวลือว่า Zipmex เตรียมตัวเลิกกิจการเนื่องจากนักลงทุนที่จะเข้าซื้อกิจการผิดนัดชำระรอบล่าสุด จากดีลการเข้าซื้อบริษัทที่มูลค่า 100 ล้านเหรียญฯ (3,400 ล้านบาท)

วันที่ 27 มี.ค. 2566 ก.ล.ต. ออกจดหมายสั่ง Zipmex ชี้แจ้งกรณี เตรียมตัวเลิกกิจการเนื่องจากนักลงทุนที่จะเข้าซื้อกิจการผิดนัดชำระรอบล่าสุด

สรุปรวมประเด็นการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต. ในกรณี Zipmex

  •  ตั้งแต่เริ่มต้น หากทางสำนักงาน ก.ล.ต. นั้นทราบเรื่องอยู่แล้วก็เป็นการไม่ทำงานตามหน้าที่? และส่อผิดกฎหมาย แต่หากทาง ก.ล.ต. ไม่ทราบเรื่องมาก่อนเลยก็เท่ากับไม่มีความสามารถในการคุม?
  • สำนักงาน ก.ล.ต. อ้างว่าเพิ่งมาทราบเรื่องบริการ ZipUp+ ตอนที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว พร้อมๆ กันกับผู้เสียหายจากการดูข่าว
  • ผ่านไป 1 เดือนเต็มเพึ่งเริ่มปรับทั้งสิ้น 1.92 ล้านบาท จากความเสียหายระดับสองพันล้าน
  • กว่า 10 ครั้งที่ผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหารือกับทาง ก.ล.ต. แต่ปราศจากการดำเนินการใดใดที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คดีนี้พิจารณาที่สิงคโปร์ แต่ ก.ล.ต. ส่อว่าไม่เคยแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของชาวไทยในการเรียกร้อง หรือตั้งศูนย์ช่วยเหลือใดใดแก่ผู้เสียหาย, กรณีที่ผู้เสียหายที่แม้ไม่ได้มีอำนาจรัฐใดๆ ต้องเป็นฝ่ายที่ขวนขวายหาหลักฐานเลขกระเป๋าดิจิทัลของ Zipmex เพื่อส่งให้ทาง ก.ล.ต. ดำเนินการต่อเอง
  • ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ใช้วิธีการเผยแพร่ข่าว ราวกับว่าเป็นหน้าที่หลักเมื่อเผยแพร่ข่าวแล้วก็แล้วกันไป ไม่ต้องดำเนินการอะไรต่อ? หรือทำแบบขอไปที
  • จนกระทั่งวันที่ 24 มี.ค. 66 ที่ มีหลุดเรื่องนักลงทุนที่จะเข้าซื้อกิจการผิดนัดชำระเงินให้ Zipmex ผู้เสียหายรวมทั้งสิ้นกว่า 61,000 คน ความเสียหายรวมกว่า 2,000 ล้าน รู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง กับการทำงานของ ก.ล.ต. แม้ต่อมา วันที่ 27 ทาง ก.ล.ต. จะสั่งให้ zipmex ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมก็ตาม

แท้จริงแค่ผลงานโบว์ดำปี 2565 เพียงปีเดียวทำให้นักลงทุนตลาดทุน-คริปฯโต   แทบอ้วกแตกกันแล้ว อย่างกรณีความเสียหายจาก FTX กระดานเทรดเถื่อน ซิปเม็กสูญ 2,000 ล้าน หุ้นมอร์ หอบเงิน ปั่นหนี ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป นักลงทุนเจ็บปวด และต้องจดจำหน้าของเลขาฯ รื่นวดี ผู้ทรงบารมีไปอีกนาน เพราะได้เห็นการจัดการปัญหาภายใต้การบริหารงาน ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรของท่านเลขา ก.ล.ต

ผู้นำตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ  สังคมต้องการตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากบางครั้ง ได้คนเก่ง แต่เก่งด้านอื่น ที่ไม่เกี่ยวกับงานตลาดทุนเลย  แถมบางครั้งขาดความกล้าหาญตัดสินใจเรื่องใหม่ ประเทศเสียโอกาส  ก็จะเข้าสู่ยุคมืด   ทำงานเสื่อมเสีย… เฝ้าแต่ ร่วมเวทีจัดงานเอาโล่…ประดับตู้โชว์

ท่ามกลางการคัดสรร เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่ ปี 2566 การโหวตต่อจากนี้ … และการสัมภาษณ์ว่าที่เลขา ตามกระแสข่าว 3-4 ท่าน เพื่อตัดคนเข้ารอบชิงให้เหลือเพียงแค่ 2 ท่าน  ที่แน่ๆในรอบนี้ รื่นวดี ผู้คุมกฎหน่วยงานกำกับ ก.ล.ต. กับผลงานรอบปี 2565 ชิ้นโบว์ดำ  ชิ้นใหญ่คละคลุ้ง คือปม zipmex พานักลงทุนสิ้นหวังจากเสียหาย 2,000 ล้านบาท  เข้ารับการคัดเลือกต่อด้วย …

รื่นวดี สุวรรณมงคล

ถ้าหาก รื่นวดี เข้ารอบผ่านไปต่อได้ ก.ล.ต ไทยไม่รู้จะอยู่ในสภาพอย่างไร ทั้งที่ผลงานปี 2565 คาหนังคาเขาหลายกรณี มีปัญหาทั้งวงการตลาดทุน หุ้นปั่น ปล้นโบรกฯ บอนไซคริปโตฯ แถมด้วยการการันตีความย่อยยับ  zipmex สดๆร้อนๆในเดือนมีนาคม 2566 ส่อเจ๊ง เข้าไปอีก  เพราะเงินเพิ่มทุนค้างท่อ ส่อลอยแพนักลงทุนไทย ขืนบอร์ด ก.ล.ต. พิจารณากันแบบห่วงหน้าพะวงหลัง ห่วงการเมืองภายในมากกว่าความโปร่งใสของตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ เขียนบทรอล่วงหน้าได้เลย  งานนี้ต้องมีคนซวย..

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts