จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ภาษาจีนจึงมีบทบาทต่อตลาดแรงงานของไทยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธุรกิจ การท่องเที่ยว หรือการร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวจีน ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ในการใช้ภาษาจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น ภาษาจีนจึงเป็นหนึ่งในภาษาที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาเรียนภาษาจีนมากขึ้น และไม่เพียงภาษาจีน ทางด้านอาชีพ การฝึกอบรม ที่ประเทศจีนมีความเชี่ยวชาญ ในสาขาอาชีพ เช่น รถไฟความเร็วสูง ยานยนต์สมัยใหม่ ช่างอากาศยาน อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งล้วนเป็นสาขาวิชาใหม่ที่ประเทศไทยยังต้องใช้ความรู้และวิทยาการจากประเทศจีน
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะผู้บริหารอาชีวะ ร่วมประชุม หารือกับ นายเจียเผิง รองผู้อำนวยการสำนักแลกเปลี่ยนและความร่วมมือต่างประเทศ นายหยาง โจว ผู้อำนวยการพัฒนากิจการภาคพื้นเอเชียและแอฟริกา สำนักงานแลกเปลี่ยนและความร่วมมือต่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. หม่า เจี้ยนเฟย ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือ ด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) กระทรวงศึกษาธิการจีน สาธารณรัฐประชาชนจีน นายหู จื้อผิง รองผู้อำนวยการศูนย์(CLEC) นายติง เซียงหรู ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมครูสอนภาษาจีนนานาชาติและบุคลากรทางการศึกษา มิส หวง ฮุ่ย รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจีน ณ ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) สำนักงานปักกิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจีน
สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมว่า “ความร่วมมือที่ดีคือความร่วมมือในการพัฒนาคน ซึ่งอาชีวศึกษาถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยพัฒนาต้องร่วมกันพัฒนาให้เป็น Human innovation และฝากสัญญาไว้กับ CLEC ประเทศจีน ว่าอาชีวศึกษาจะทำงานกันแบบ “หนูลี่ๆ” คือมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นและขยัน ขันแข็ง
ด้านว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) ในการจัดตั้งสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านภาษาจีน เช่น การส่งครูอาสาสมัครมาสอนภาษาจีนในประเทศไทย การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษาและครูอาชีวศึกษา การฝึกอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ การส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาได้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการของจีน การพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น โดยในวันนี้ สอศ. ได้เดินทางมาเพื่อประชุมหารือความร่วมมือกับ ศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (CLEC) สำนักงานปักกิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจีน เพื่อที่จะแสวงหาแนวทางขับเคลื่อนเดินหน้าสถาบันภาษาจีนและการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะอย่างมียุทธศาสตร์และยั่งยืน ซึ่งสอศ.ได้ความเมตตาจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ที่เป็นประธานนำคณะเข้าร่วมประชุมหารือครั้งนี้ โดย สอศ. หวังว่า สถาบันภาษาจีน และการศึกษาอบรมด้านเทคนิคและอาชีวะ จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทักษะภาษาจีนให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากรในสังกัดสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต่อไปในอนาคต