วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนขิงกันซะงั้น! นายพันจีนเย้ย ‘กองทัพอินเดีย’ แสนยานุภาพยังอ่อนด้อย สู้จีนไม่ได้ไปอีก 'หลายสิบปี'

Related Posts

ขิงกันซะงั้น! นายพันจีนเย้ย ‘กองทัพอินเดีย’ แสนยานุภาพยังอ่อนด้อย สู้จีนไม่ได้ไปอีก ‘หลายสิบปี’

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเผยกองทัพอินเดียไม่ถือเป็นภัยคุกคามสำหรับแดนมังกร และเชื่อว่าแสนยานุภาพทางทหารของอินเดียคงจะก้าวตามจีนไม่ทันไปอีก “หลายสิบปี”

พันเอกอาวุโส จ้าว เสี่ยวจั้ว (Zhao Xiaozhuo) หนึ่งในคณะผู้แทนจีนซึ่งเดินทางไปร่วมการประชุมด้านความมั่นคงแชงกรี-ลาไดอะล็อก ที่สิงคโปร์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ศักยภาพด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์และความทันสมัยของกองทัพอินเดียในปัจจุบัน “ยังไม่เพียงพอ” ที่จะเผชิญหน้ากับกองทัพของปักกิ่งได้

อย่างไรก็ตาม จ้าว ย้ำว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ยังมองว่าการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเจรจา เป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าในการคลี่คลายข้อพิพาทดินแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

จีน และอินเดียเกิดการเผชิญหน้าทางทหารอยู่บ่อยครั้งในบริเวณพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย

“อินเดียคงยังก้าวตามจีนไม่ทันไปอีกหลายสิบปี เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมของพวกเขายังอ่อนแอ ในขณะที่จีนมีแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมด้านกลาโหมที่ซับซ้อนและเป็นระบบ” พันเอก จ้าว ซึ่งเป็นนักวิจัยจากสถาบันวิทยาการทหารของจีน (China’s Academy of Military Sciences) ระบุ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์

“พวกคุณลองไปดูระบบอาวุธต่างๆ ที่กองทัพอินเดียใช้สิ มีรถถัง เครื่องบิน หรือเรือรบลำไหนบ้างที่ถูกสร้างและพัฒนาโดยชาวอินเดียเอง”

การประชุม แชงกรีลา-ไดอะล็อก ปิดฉากลงไปเมื่อวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ท่ามกลางการอภิปรายที่ดุเดือดในประเทศด้านความมั่นคงที่สำคัญๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน ทะเลจีนใต้ รวมไปถึงสงครามในยูเครน

ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2020 เป็นต้นมา กองทัพจีนและอินเดียเริ่มเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงบริเวณเส้นควบคุมแท้จริง (Line of Actual Control – LAC) พรมแดนความยาว 4,057 กิโลเมตรซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทางตะวันตก (ลาดัคห์ กัศมีร์) ตอนกลาง (รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐหิมาจัลประเทศ) และทางตะวันออก (รัฐสิกขิม รัฐอรุณาจัลประเทศ)

เหตุปะทะที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นการเผชิญหน้าระยะยาวในเขตเทือกเขาสูง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างส่งทหารไปตรึงกำลังเอาไว้หลายพันนาย รวมถึงปืนใหญ่ รถถัง และเครื่องบินขับไล่

จ้าว ยังให้ความเห็นด้วยว่า อินเดียไม่มีทางเป็น “พันธมิตรที่ซื่อสัตย์” ของสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เนื่องจากมีนโยบายการทูตที่เป็นอิสระ อีกทั้งยังเป็นแกนนำขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned movement – NAM)

NAM เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็น ประกอบไปด้วยชาติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Global South ซึ่งมีนโยบายไม่จับมือเป็นพันธมิตรหรือต่อต้านขั้วอำนาจใด ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าแนวทางของ NAM นั้นไม่เข้ากับโลกในยุคปัจจุบันแล้ว

ที่มา : SCMP, Independent

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts