วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่เตรียมร้อง ปปป.เอาผิด ผจว.กับพวกทำรายงานการสอบข้อเท็จจริงเป็นเท็จเอื้อ ปย.ให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ

Related Posts

เตรียมร้อง ปปป.เอาผิด ผจว.กับพวกทำรายงานการสอบข้อเท็จจริงเป็นเท็จเอื้อ ปย.ให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ

วันที่ 9 มิ.ย. นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้ลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยมีเอกสาร ฉบับที่ 2 แนบท้ายประกาศดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการของเขตประกอบอุตสาหกรรม คุณสมบัติของผู้ประกอบการเขตประกอบการอุตสาหกรรม ข้อ

1.คุณสมบุติผู้เสนอโครงการ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ข้อ (1.1) ผู้เสนอโครงการจะต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เสนอโครงการในวันที่ยื่นเสนอโครงการ

ต่อมา ประมาณปี 2547-2548 บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ได้เสนอทำโครงการเขตประกอบอุตสาหกรรม ท้องที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 1,567 ไร่ 25.8 ตารางวา จนกระทั่งโครงการดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น นายวัฒนา เมืองสุข ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระรชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2553 ออกประกาศกำหนดให้พื้นที่ภายในแนวเขตอุตสาหกรรมของบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศ นี้เป็น “เขตประกอบอุตสาหกรรม” และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548

ตนและนายสมบุญ เต๊งผักแว่น กับพวกชาวบ้านตำบลนากลาง เห็นว่า ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายประกาศนี้ แต่เดิมตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย หลายชั่วอายุคนแล้ว ได้ใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ และในบริเวณดังกล่าวก็มีลำน้ำ สาธารณะชื่อลำน้ำ “กุดปืน” ทอดยาวตลอด ที่ดินบริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านใน
ตำบลนากลางมาโดยตลอด ตามกฎหมายถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่า บริษัทนวนคร จำกัด (มหาชน) มีการแสดงแผนที่แนวเขตประกอบอุตสาหกรรมทับที่ดินหลวงและเบี่ยงเบนเส้นทางลำน้ำกุดปืนให้อ้อมไปด้านหลังที่ดินหลวงโดยมีเจตนาพิเศษต้องการครอบครองที่ดินหลวงกว่า 10 ไร่ และการเปลี่ยนเส้นทางของลำน้ำสาธารณะกุดปืนก็สร้างปัญหาระบบนิเวศทางน้ำและทำให้ประชาชนในพื้นที่ตำบลนากลางได้รับความเสียหายจากการทำโครงการดังกล่าว เช่น ในฤดูน้ำหลาก บริษัทฯ ก็จะปล่อยน้ำออกจากลำน้ำกุดปืนมาท่วมบ้านเรือนประชาชนแต่ภายในโครงการน้ำกลับไม่ท่วม ส่วนในฤดูน้ำแล้ง บริษัทฯ ก็จะกักเก็บน้ำไว้ในบ่อภายในโครงการจำนวนหลายบ่อ แต่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเอาน้ำในลำน้ำกุดปืนได้ เพราะบริษัทฯ ไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในโครงการ ปัญหาดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ตำบลนากลางนับแสนคนที่มีอาชีพหลักคือทำการเกษตรกรรมต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว แต่เมื่อรวมตัวกันไปร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการ เรื่องก็เงียบไปไม่มีหน่วยงานใดแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลนากลางได้เลยจวบจนทุกวันนี้

ต่อมา วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายสมบุญ เต๊งผักแว่น กับพวกชาวบ้านตำบลนากลางได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เรื่องขอความเป็นธรรมกรณีเอกชนรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ

ต่อมา วันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายสมบุญ เต๊งผักแว่น กับพวกชาวบ้านตำบลนากลางได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวอ้างว่าบริษัท แคนนอน จำกัด รุกล้ำลำน้ำสาธารณะ กลุ่มชาวบ้านจึงต้องการทวงคืนลำน้ำสาธารณะ

โดยผลการตรวจสอบช้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนของนายสมบุญกับพวกเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฎออกมาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานมาที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดได้มี หนังสือที่ นม 0017.1/17011 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 แจ้งมายังนายสมบุญ เต๊งผักแว่น สรุปว่า โครงการดังกล่าวไม่มีการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินสาธารณะประโยชน์เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา ได้เลิกใช้ประโยชน์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประชาชนในสมัยนั้นยินยอมให้บริษัท นิคมอุตสาหกรรม นวนคร จำกัด และบริษัท แคนนอน จำกัด พัฒนาเป็นคูคลองสวยงามสะอาดตาและมีสภาพคลองสาธารณะประโยชน์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่เป็นความจริงตามที่ร้องเรียนแต่อย่างใด

ต่อมา วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายกฤษฎา อินทามระ และนายสมบุญ เต๊งผักแว่น ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เลขรับที่ 8801 กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินทับที่หลวงและเบียงเบนเส้นทางลำน้ำสาธารณะกุดปืน

ซึ่งอยู่ภายในโครงการนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เช่นเดียวกัน สำนักงาน ป.ป.ช.จึงส่งคำกล่าวหาดังกล่าวไปให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลปรากฎว่าในวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา มีหนังสือที่ 4 (นม)/1430 เรื่อง ส่งเรื่อง กล่าวหาให้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เรียน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง

สรุปว่า สำนักงาน ป .ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วเห็นว่า คำกล่าวหาเรื่องร้องเรียนที่ 8801 ดังกล่าวมีข้อมูลหรือรายละเอียดเพียงพอที่จะดำเนินคดีต่อไปได้ และเป็นประเด็นกล่าวหาร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการบุกรุก ที่ดินของรัฐ จึงเป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน สิ่งแวดล้อมหรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญซึ่งมีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง เรื่องดังกล่าวจึงอยู่ในหน้าที่และอำนาจของสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องการแบ่งสวนราชการและหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 จึงเห็นสมควรส่งคำกล่าวหานี้ให้สำนักไต่สวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้พิจารณาตรวจรับคำกล่าวหาต่อไป

ดังนั้นในวันอังคารที่ 13 มิ.ย.66 เวลา 10.00 น. ตน และนายสมบุญ จะไปแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ให้ดำเนินคดีกับอดีต ผวจ.นครราชสีมา กับผู้เกี่ยวข้องรวม 4 คน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดคือ ทำรายงานการสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดนครราชสีมา ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดเพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้กระทำความผิดในโครงการนิคมอุตสาหกรรม นวนครไม่ต้องรับโทษทางอาญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts