วันพุธ, กันยายน 25, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนจีนย้ำ! หยุดปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ฮ่องกงจ่อแบนอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น

Related Posts

จีนย้ำ! หยุดปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ฮ่องกงจ่อแบนอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น

การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 53 เมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.) ที่ผ่านมา นักการทูตของจีนย้ำเตือนญี่ปุ่นอีกครั้ง ในการหยุดแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ลงสู่มหาสมุทร โดยนักการทูตจีนกระตุ้นเตือนญี่ปุ่นกำจัดน้ำเสียเหล่านั้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ปลอดภัยและโปร่งใส รวมถึงร่วมมือกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อวางกลไกเฝ้าติดตามระหว่างประเทศในระยะยาวอันเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ โดยเร็วที่สุด นักการทูตจีนชี้ว่าหากญี่ปุ่นเพิกเฉยข้อกังวลและการคัดค้านของประชาคมระหว่างประเทศ โดยการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเลหลายล้านตันในช่วง 30 ปีข้างหน้า เท่ากับทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกกลายเป็นบ่อน้ำเสีย

ก่อนหน้านี้ จีนเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ โดยเตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลระดับโลก สาธารณสุข และปัญหาการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ในวงกว้าง

ด้านนายจอห์น ลี ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกล่าวในวันนี้ (11 ก.ค.) ว่า ฮ่องกงจะสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากหลายจังหวัดของญี่ปุ่น หากญี่ปุ่นเดินหน้าตามแผนปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทร โดยระบุว่า “หากญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการจริง ๆ เราจะสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากอีกหลายจังหวัดของญี่ปุ่น” โดยในปี 2565 ญี่ปุ่นได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปยังฮ่องกงเป็นมูลค่า 7.55 หมื่นล้านเยน (536 ล้านดอลลาร์)

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำได้ผ่านการกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก แต่ถึงกระนั้น น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับไอโซโทปมาตรฐาน ที่ได้รับการอนุมัติในระดับสากลเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิอย่างเร็วที่สุดในเดือนส.ค. หลังจากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN) โดย IAEA ได้ดำเนินการทบทวนเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี และแถลงเมื่อ 4 ก.ค. ว่า แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก นับเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts