วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมปอท. ประเมินสถานการณ์อาชญากรรมออนไลน์ครึ่งปีหลัง 2566 พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน

Related Posts

ปอท. ประเมินสถานการณ์อาชญากรรมออนไลน์ครึ่งปีหลัง 2566 พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน

วันที่ 16 ก.ค. 2566 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2566 พบว่าสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 38,669 ครั้ง
  3. หลอกให้กู้เงิน จำนวน 35,121 ครั้ง
  4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 23,545 ครั้ง
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) จำนวน 21,482 ครั้ง

โดยรูปแบบคดีออนไลน์ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า “11,500 ล้านบาท”

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คาดการณ์ว่าสถานการณ์คดีอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากครึ่งปีแรกโดยเฉพาะ 5 อันดับคดีดังกล่าวข้างต้น แต่มิจฉาชีพอาจปรับรูปแบบวิธีการ ที่สำคัญคือจะมีการเพิ่มการเข้าถึงเหยื่อมากขึ้น เช่น การส่งข้อความสั้น (SMS.) , การโทรศัพท์หาเหยื่อ การโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน ให้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ และวิธีการป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะกลุ่มอาชญากรมักจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา โดยขอนำเสนอวิธีการเบื้องต้นในการป้องกันตนเองจากภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. วิธีการที่อาจจะสุดโต่งแต่ได้ผลมากที่สุด คือการคิดอยู่เสมอว่าทุกคนบนโลกออนไลน์ที่ไม่รู้จักตัวจริงอาจเป็นคนไม่ดี พร้อมที่จะหลอกลวงเราอยู่เสมอ ต้องไม่หลงเชื่อกดลิงก์ โอนเงิน หรือส่งข้อมูลเอกสารส่วนบุคคล ภาพหรือคลิปที่ไม่เหมาะสมของตนเองทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง
  2. อย่าหลงใหลกับสิ่งที่เห็นบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าคนที่จะขอเป็นเพื่อน จะมีรูปโปรไฟล์ สวย หล่อ รวยหรือถูกใจเราเพียงใด เพราะอาจไม่เป็นความจริง หรือเป็นรูปหรือภาพลักษณ์ที่สร้างขึ้นมาก็ได้
  3. เงินที่อยู่ในบัญชีของเรา ตราบใดก็ยังคงเป็นเงินของเรา จนกว่าเราจะโอนให้บุคคลอื่น ดังนั้นจึงต้องไม่หลงเชื่อโอนเงินให้กับบุคคลที่อ้างว่าต้องการตรวจสอบเงินในบัญชี หรือโอนเงินให้กับร้านค้าต่าง ๆ โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลบัญชีปลายทางก่อน
  4. ลิงก์บนเว็บไซต์ หรือลิงก์ที่ส่งข้อความมาให้เราทางช่องทางต่าง ๆ จะต้องระมัดระวัง และตรวจสอบก่อนที่จะกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันทุกครั้ง ว่าลิงก์หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของ หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่
  5. การชักชวนลงทุน หรือการชักชวนไปสัมมนาออนไลน์ ในลักษณะอ้างเป็นไลฟ์โค้ช อาจารย์ กูรู ที่แนะนำช่องทางในการลงทุนที่สามารถได้รับผลตอบแทนสูง ในระยะเวลาอันสั้น ให้พึงระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลก่อนเสมอ เพราะเป็นไปได้น้อยที่จะมีบุคคลที่สละเวลามาชักชวนเรา โดยที่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากเรา นอกจากนี้มิจฉาชีพยังปลอมเว็บไซต์การลงทุนให้ดูเสมือนจริงมาก เช่น มีข้อมูลกราฟสถิติการลงทุน การแสดงผลกำไร ขาดทุน ฯลฯ จนเหยื่อหลงเข้าใจว่าเป็นเว็บไซต์การลงทุนจริงๆ แล้วโอนเงินเข้าไปลงทุน
  6. อย่าเชื่อข่าวที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะปัจจุบันข่าวปลอมสามารถสร้างขึ้นได้เพียงปลายนิ้วโดยใช้คนหรือเทคโนโลยี (AI) ในการสร้างขึ้น ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข่าวต่าง ๆ ได้ที่ www.antifakenewscenter.com หรือเว็บไซต์หลักของสำนักข่าวต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ

โดยหากพี่น้องประชาชนสามารถทำตามที่กล่าวมาได้ ก็จะเป็นการตัดโอกาสที่ท่านจะตกเป็นเหยื่อของอาชญากร ที่หลอกลวงแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบทางออนไลน์ และหากพี่น้องประชาชนท่านใด ได้รับความเสียหาย หรือพบเห็นการกระทำในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงทางออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือแจ้งความออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts