วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนหนึ่งทศวรรษ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” 10 ปี บนเส้นทางแห่งชัยชนะร่วมกัน 

Related Posts

หนึ่งทศวรรษ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” 10 ปี บนเส้นทางแห่งชัยชนะร่วมกัน 

เสวนาครบรอบ 10 ปี แห่งความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ภายใต้หัวข้อ “หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างโชคชะตาร่วมกันเอเชีย-แปซิฟิก” จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ไทย-จีนและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ หอประชุมสถาบันป้องกันราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สถาบันคลังปัญญาเอเชียแปซิฟิก ศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน ศูนย์เผยแพร่ความรู้แห่งเอเชียแปซิฟิก สำนักข่าว The Leader Asia หนังสือพิมพ์ Bangkok Today พร้อมด้วยองค์กรคลังปัญญาและสื่อมวลชนหลายแขนงเพื่อสรุปผลงานภาคปฏิบัติของความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและขยายมุมมองสู่วิสัยทัศน์แห่งอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ  นายหาน จื้อเฉียง  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน  ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน  นายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน  นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน  นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการ The Leader Asia  และนักวิชาการจากญี่ปุ่น  เกาหลีใต้  กัมพูชา  สปป.ลาว  อินโดนีเซีย ฯล เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างโชคชะตาร่วมกันเอเชีย-แปซิฟิก”  มีสื่อมวลชน นักธุรกิจและนักศึกษาต่างชาติที่สนใจในประเด็นหัวข้อเสวนารวม 200 กว่าคนได้เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้

โดยในเวทีได้แสดงความเห็นต่อนโยบายของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้นำเสนอ “ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในปี ค.ศ. 2013 ประกอบด้วย “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21” เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างสมัครสมานสามัคคี รับผิดชอบอย่างกล้าหาญ สร้างสรรค์ประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก ท่ามกลางสถานการณ์ทั่วโลกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบศตวรรษ ปธน.จีนได้ใช้ความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์โลกในเชิงลึก นำมาซึ่งการเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้น ก้าวข้ามอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูงใหญ่หรือเส้นทางที่เดิมมีความยาวไกล ล้วนถูกก้าวข้ามกลายเป็นทางสะดวก ประเทศที่เคยเป็น Land Lock ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็น Hub แห่งการเชื่อมโยงคมนาคมทางบกและทางน้ำ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจอย่างสูงมาสู่ประชาชนหลายๆ ประเทศ ทำให้ประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้พบกับโอกาสใหม่ๆ แห่งการพัฒนา ทำให้ประชาชนที่ในอดีตเคยยากจนข้นแค้น สามารถหลุดพ้นจากความยากจน ก้าวสู่ความมั่งคั่งด้วยความมั่นใจ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจึงเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวแห่งยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ ทำให้มวลมนุษยชาติมองเห็นอนาคตอันสดใส

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “เอเชีย-แปซิฟิกจับมือกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง โดยกล่าวว่า ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ จำนวน 150 ประเทศ คิดเป็น 3 ใน 4 ของประชากรโลก หรือครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญดังกล่าว ข้อริเริ่มนี้นำนำมาซึ่งโครงการหลายๆ ในภูมิภาค เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสะดวก-รวดเร็ว  เป็นช่องทางขยายและกระชับความสัมพันธ์ประเทศจีนและประเทศที่เข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับสนับสนุนความต้องการเชื่อมโยงของโลกบนพื้นฐานของความคิดจะต้องเป็นการสร้างประโยชน์ให้กันและกัน ให้โลกก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น โควิด-19 สร้างโอกาสในการค้าและการลงทุนที่ทุกประเทศมีบทบาทความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนร่วมกัน

นายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้กล่าวถึงผลสำเร็จของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”  เป็นการหลอมรวมจิตวิญญาณเกิดผลงานที่จับต้องได้ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ได้รับการตอบรับด้วยความยินดีสูงสุดในระดับโลก รวมถึงกลายเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระดับสากลที่ใหญ่ที่สุด นำมาซึ่งการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมด้วยประโยชน์อย่างแท้จริงในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นผลสำเร็จที่ประจักษ์ชัด กระตุ้นความสัมพันธ์ทางการค้าและเชื่อมประสานแหล่งทุน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับประชาชนอันนำมาซึ่งความผาสุข โดยมุ่งรณรงค์สร้างความร่วมมือแบบ “คว้าชัยชนะร่วมกัน” เพื่อสร้างสรรค์ประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกันแห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งในอนาคต ประเทศจีนจะยังคงยึดมั่นในแนวทางการพัฒนาเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและมีความสม่ำเสมอ เน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ ขจัดอุปสรรคและคลื่นรบกวนต่างๆ จากภายนอก อัดฉีดพลังขับเคลื่อนการพัฒนามนุษยชาติสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts