ในงานสัมมนา “หนึ่งทศวรรษของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างโชคชะตาร่วมกันเอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งจัดโดยศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน และศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ หอประชุมอาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รศ.ดร.โภคิน พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ได้กล่าวในช่วงเวทีเสวนาหัวข้อ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับปาฏิหาริย์แห่งเอเชีย-แปซิฟิกในยุคสมัยใหม่” สรุปความว่า
เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงเป็น “จีนใหม่” ในปี 1949 นั้นจีนต้องเผชิญกับอะไรและตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร มีหลักการและวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างไร
เราจะพบว่าตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ จีนเน้นเรื่องความเท่าเทียม ความอยู่ดีกินดี การจะต้องไม่มีคนจน ในปี 2025 จีนจะต้องพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง นี่คือเป้าหมายที่จีนวางเอาไว้ ถามว่าเพื่อจะถึงเป้าหมายเขาจะต้องทำอะไรบ้าง
ประการแรกจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เขาใช้ลัทธิมาร์กซ์-เลนินนิสม์ จุดแข็งของจีนคือพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่บริหารประเทศอย่างต่อเนื่องนับแต่ปี 1949 ภายใต้ผู้นำ 5 ท่าน ตั้งแต่เหมา เจ๋อตุง เติ้ง เสี่ยวผิง เจียง เจ๋อหมิน หู จิ่นเทา และสี จิ้นผิง แต่ละท่านได้สร้างคุณูปการมากมาย
จุดเปลี่ยนสำคัญของจีนคือเมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นคอมมิวนิสต์ใหม่ๆมีความยากคือระบบเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ช่วงแรกๆจีนทำตามรัสเซีย ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบปิด ทำนารวม ทุกคนเอาของไปไว้กองกลาง จากนั้นจึงแบ่งปัน ซึ่งเกิดปัญหามากมาย คนที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจีนเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาดคือ เติ้ง เสี่ยวผิง จากนั้นจีนจึงเป็นประเทศแรกของโลกก็ว่าได้ที่บริหารแบบคอมมิวนิสต์แต่อยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ซึ่งโลกที่นำโดยตะวันตกเป็นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากว่าจะบริหารภายในแบบคอมมิวนิสต์ แต่อยู่กับโลกภายนอกแบบเศรษฐกิจการตลาดอย่างไร
ยุค เติ้ง เสี่ยวผิง ทดลองระบบเศรษฐกิจการตลาดที่เซินเจิ้นข้างๆฮ่องกง เพราะฮ่องกงมีความเจริญ มีนักธุรกิจนักลงทุนมากมาย ถ้าดึงนักธุรกิจจากฮ่องกงได้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจการตลาดที่เติบโตได้ในเมืองจีน
อันดับถัดมาคือการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพราะจีนมองว่าถ้าประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลเชื่อมต่อกันไม่ได้สะดวก “พลัง”ก็จะไม่เกิด เหมือนเช่นที่สหรัฐอเมริกาก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมทุกมลรัฐ จีนจึงสร้างถนน สร้างทางรถไฟ พัฒนารถไฟความเร็วสูง สนามบิน ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ ก่อให้เกิดการลงทุน การผลิต จนวันนี้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก”ภายในเวลาเพียงประมาณ 40 ปี
เหตุที่จีนทำได้สำเร็จเพราะ 1. การนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำทั้ง 5 รุ่นที่ผ่านมา 2.จีนมีกองทัพที่ถือว่าเป็นกองทัพของพรรคฯไม่ใช่ของรัฐบาล พรรคฯคุมกองทัพจึงไม่มีโอกาสที่กองทัพจะมาล้มรัฐบาล 3.เมื่อมีความมั่นคงแข็งแรงตรงจีน จีนจึงสามารถกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ และแนวนโยบายต่างๆได้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ใช่กลับไปกลับมาอย่างรัฐบาลในประเทศอื่นๆ 4.การบริหารของจีนจากรัฐบาลกลางไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นจะเชื่อมต่อโดยพรรคฯ
ทำไมในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาจีนจึงเน้นเรื่อง BRI ? และยังเน้นเรื่องประชาคมโลกที่ร่วมชะตากรรมกันหรือแบ่งปันกัน
ก็เพราะจีนไม่มีเรือปืนมากมายที่ไปคุมได้ทั่วโลก จีนยังถูกปิดกั้นทางทะเลจีนใต้ทั้งหมดตั้งแต่เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ลงไปจนถึงอินโดนีเซีย เป็นผลสืบเนื่องตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ปี 2013 ท่านสี จิ้นผิง นำเสนอข้อคิดการเปิดประเทศจีนด้วยเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ดังเช่นเส้นทางสายไหมในอดีตที่จีนเคยเชื่อมต่อถึงโรมัน วิธีการคือที่ไหนต้องทำถนนก็ทำถนน ที่ไหนต้องทำทางรถไฟก็ทำทางรถไฟ เส้นทางไหนทำรถไฟความเร็วสูงได้ก็ทำ ที่สำคัญคือทางเรือก็ต้องมีท่าเรือต่างๆคอยรองรับ จีนจึงพูดถึงทางสายไหมทางบกและทางทะเล
เส้นทางสายไหมยุคใหม่นี้หากไปทางตะวันตกคือเชื่อมสู่ยุโรป หากลงทางใต้ผ่านทะเลจีนใต้ เชื่อมมาทางช่องแคบมะละกาเพื่อไปสู่อินเดียและแอฟริกา โครงการนี้จีนเรียกว่าความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน วันนี้จีนจึงมีผู้เข้าร่วมเส้นทางสายไหมมากกว่า 150 ประเทศ ซึ่งรวมจำนวนประชากรมากกว่า 75% ของโลก รวม GDP เกิน 50% ของโลก
จีนมองว่าโลกมีอยู่โลกเดียว สิ่งที่โลกเผชิญอยู่ทุกวันนี้คือ 1.ภัยจากธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม โลกร้อน โรคระบาด 2.ภัยจากมนุษย์ด้วยกันเอง สงคราม การก่อการร้าย ภัยจากความรวย-ความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างขยายมากขึ้น จีนจึงมุ่งมั่นเอาชนะความยากจน
จีนแสดงให้เห็นว่าต้องเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันปกป้องโลกที่อยู่ร่วมกัน โดยเส้นทางสายไหมจะเป็นตัวเชื่อม ท่านสี จิ้นผิง เคยกล่าวว่า “ที่ไหนไม่มีสันติภาพ ที่นั่นจะพัฒนาไม่ได้” ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพ ทำอย่างไรจะสามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกที่มองผู้คนเป็นพี่น้องและแบ่งปัน
โดยสรุป 1.เราติดต่อกันด้วย BRI ด้วยความเสมอภาพ ด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน 2. ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายที่ว่าเราอยู่ร่วมโลกเดียวกัน เราต้องสร้างสังคมโลกที่ร่วมแบ่งปัน ร่วมชะตากรรม
แล้วสถานการณ์ปัจจุบันเอื้อต่อการผลักดัน BRI มากแค่ไหน?
ตอนนี้ทั้งโลกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จีนเองก็มีปัญหาเงินฝืด แต่จีนน่าจะไปได้เพราะมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เข้มแข็ง มีทิศทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา แม้จะผิดพลาดก็สามารถปรับตัวได้เร็ว ดังเช่นการปรับนโยบายเรื่องโควิด และประกาศเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว
BRI คือยุทธศาสตร์ที่วันนี้ไม่ใช่เฉพาะของจีน แต่ให้ความสำคัญกับประเทศทั่วโลกที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากBRI ประเทศที่พัฒนาแล้วก็อาจจะได้ประโยชน์บ้าง