ตามที่มีประชาชนได้รับความเสียหายจากการถูกขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่ง SMS หลอกลวงจะทำการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า จนเกิดความหลงเชื่อ จากนั้นจะให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทาง Line ทำการพูดคุยและส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายทำการติดตั้งแอปฯในโทรศัพท์ เพื่อกรอกข้อมูล จากนั้นคนร้ายจะใช้โปรแกรมดังกล่าวเข้าควบคุมโทรศัพท์ และเข้าทำธุรกรรมทางการเงิน โดยโอนเงินในแอปพลิเคชั่นธนาคารของผู้เสียหายออกไปยังบัญชีม้า จำนวน 2 บัญชี รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้มาร้องทุกข์กับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้ช่วยติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 ได้สั่งการให้ทำการสืบสวนสอบสวนและจับกุมคนร้ายให้ได้โดยเร็ว ต่อมาพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 ได้สืบสวนสอบสวนจนทราบตัวผู้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว และได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหานี้ไว้
ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2566 พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พ.ต.อ.ปรีดา คงจัด
และ พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวน กก.4 บก.สอท.1 นำกำลังเข้าจับกุมตัว
น.ส.ประภาแก้ว (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี ได้ที่บริเวณโรงพยาบาลอำเภอค้อวัง ต.ค้อวัง อ.ค้อวัง จว.ยโสธร ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และ ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบ ซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ , ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันมิชอบ , เป็นผู้เปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตน หรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรจะรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติด และเคยถูกจับกุมมาก่อน
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ กล่าวว่า คดีนี้นับเป็นภัยสังคม โดยมิจฉาชีพจะอาศัยสถานการณ์ในปัจจุบัน
มาหลอกลวง สำหรับคดีนี้เป็นช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ และค่าสาธารณูปโภค ทำการส่ง SMS หลอกลวงผู้เสียหาย โดยอ้างว่าจะทำการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ และหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นควบคุมเครื่อง ก่อนจะโอนเงินออกไปยังบัญชีม้า รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท
เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า “ได้ขายบัญชีให้กับมิจฉาชีพ โดยได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300 บาท
จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มคนร้ายได้มีการโอนเงินต่อกันไปเป็นทอดๆ และมีการกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็ม บริเวณพื้นที่ชายแดน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ อยู่ระหว่างขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด”
พล.ต.ต.ชัชปัณฑกานต์ฯ ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่าอย่าได้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อ โดยไม่ควรรับเพิ่มเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่รู้จัก หากจะรับขอให้ตรวจสอบข้อมูลในบัญชีให้ดี รวมทั้งไม่ควรกดลิงก์จากคนแปลกหน้าหรือผู้ที่ไม่รู้จัก เมื่อมีการติดต่อจากผู้ที่อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ ควรตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ และหากมีการชักชวนลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ และควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสามารถปรึกษาสอบถาม สายด่วน ตำรวจไซเบอร์ 1441 ได้ทันที