เมื่อไม่นานนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสัมมนาหัวข้อ “การร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนระดับโลก” แสดงความเห็นว่าความร่วมมือภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) มีส่วนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระดับโลก
หูปี้เลี่ยง คณบดีฝ่ายบริหารประจำสำนักวิชาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง ระบุว่าความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีบทบาทสำคัญต่อความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศหุ้นส่วน เนื่องจากความร่วมมือดังกล่าวยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน มอบโอกาสทำงาน เกื้อหนุนการค้า เพิ่มรายได้ของประชาชน และลดความยากจน
อนึ่ง การประชุมสัมมนาข้างต้นจัดโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐของจีนที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในการประชุมหารือเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนระดับโลกในเมืองเจนีวา ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สมัยที่ 54 ช่วงวันที่ 11 ก.ย.-13 ต.ค. นี้
หู นักวิชาการชาวจีนชื่อดังที่มุ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับแผนริเริ่มฯ กล่าวว่าความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้ความสนใจกับกลุ่มประเทศและภูมิภาคด้อยพัฒนา และให้ความสำคัญสูงสุดกับการบรรเทาความยากจน การจ้างงาน ตลอดจนการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ข้อมูลจากรัฐบาลจีนระบุว่า ตั้งแต่นำเสนอแผนริเริ่มฯ เมื่อปี 2013 มีการลงนามเอกสารความร่วมมือกับมากกว่า 150 ประเทศ และ 30 องค์กรระหว่างประเทศ การดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างจีนและหุ้นส่วนต่างชาติกว่า 3,000 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36.12 ล้านล้านบาท) สร้างงานอย่างน้อย 420,000 อัตรา และจะช่วยประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนหลายสิบล้านคนตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก
จางอ้ายหนิง ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยกิจการระหว่างประเทศของจีน กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ เป็นแนวทางของจีนในการแก้ไขปัญหาที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2030
จางอ้างอิงคำกล่าวของโวล์กเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ พิธีเปิดการประชุมคณะมนตรีฯ สมัยที่ 54 ระบุว่าประเด็นการพัฒนาต่างๆ รับรองเกือบทุกความท้าทายที่เราเผชิญ คนทั่วโลกต้องการและมีสิทธิรับประทานอาหารบนโต๊ะ การดูแลสุขภาพราคาย่อมเยา การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม โอกาสทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน แต่ความเป็นจริงยังห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้อยู่มาก นานาประเทศทั่วโลกจำต้องก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านขั้นพื้นฐานอย่างแน่วแน่เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
มีการดำเนิน “โครงการดำรงชีพ” นับไม่ถ้วน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศหุ้นส่วนตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานที่สุดของประชาชน เช่น น้ำสะอาด ที่อยู่อาศัย การขนส่ง การบริการทางการแพทย์ การศึกษา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานของประชาชน ซึ่งจางกล่าวว่าแผนริเริ่มฯ กำลังแปรเปลี่ยนความปรารถนาชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของผู้คนในประเทศหุ้นส่วนเป็นความจริง
จางเหว่ย รองประธานบริหารสถาบันสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งประเทศจีน เห็นพ้องกับจางอ้ายหนิง ชี้ว่าแผนริเริ่มหนึ่งฯ มอบโอกาสการทำงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศหุ้นส่วน พร้อมด้วยถนน โรงพยาบาล โรงเรียนที่ดีขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างรายได้อื่นๆ
จางเหว่ยกล่าวว่า เพราะโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้นคืนผลตอบแทนต่ำและช้า ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากจึงถูกทอดทิ้งมานานหลายปี ส่วนถนน สนามบิน และท่าเรือที่เสื่อมโทรมย่อมขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งแผนริเริ่มฯ อุดช่องโหว่ใหญ่นี้ให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากและวางเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยแผนริเริ่มฯ เป็นตัวอย่างที่ดีของการเดินหน้าผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเต็มที่อย่างต่อเนื่อง
ซางไห่หมิง รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ ไม่เพียงส่งเสริมการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศหุ้นส่วน แต่ยังขยับขยายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางนิเวศวิทยาทั่วโลกด้วย
ซางกล่าวว่าจีนแนะนำแนวคิดแผนริเริ่มฯ สีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความร่วมมือ เน้นย้ำการก่อสร้างอารยธรรมเชิงนิเวศในทุกโครงการและความร่วมมือภายใต้กรอบการทำงานตามแผนริเริ่มฯ ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินนโยบายและมาตรการมากมายเพื่อส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศหุ้นส่วน
จั่วเฟิง รองประธานและเลขาธิการทั่วไปของมูลนิธิฯ กล่าวว่า ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 75 ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน วาระครบรอบ 35 ปี ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา และวาระครบรอบ 13 ปี ปฏิญญาเวียนนาและแผนปฏิบัติการ
จั่วระบุว่าห้วงยามการกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายหนักหน่วง สิ่งสำคัญยิ่งคือการทบทวนเจตนารมณ์พื้นฐานของเอกสารเชิงปฏิบัติการเหล่านี้ ซึ่งนำสู่การเข้าใจนัยสำคัญของการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นจั่วเสริมว่า ช่วงเวลาสิบปีของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ต่อการยกระดับภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญร่วมกัน และปรับปรุงระบบการกำกับดูแลระดับโลก โดยความร่วมมือนี้มีส่วนส่งเสริมเชิงบวกต่อการพัฒนาระดับโลกและความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชน
ด้าน แคตเธอรีน เฟียนคาน-โบกองกา ผู้สื่อข่าวอาวุโสแห่งสหประชาชาติ และรองประธานสวิส เพรส คลับ (Swiss Press Club) ซึ่งเข้าร่วมการประชุมสัมมนาครั้งนี้ด้วย เชื่อว่าแผนริเริ่มฯ สามารถช่วยเหลือหลายประเทศเพราะมีเสาหลักอย่างความร่วมมือ การพัฒนา และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร
ที่มา : ซินหัว