“…ด้วยความเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ทำให้จีนในสายตาของกลุ่มประเทศ G7 เป็นสิ่งแปลกแยก และยิ่งจีนพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถไล่ทันและแซงหน้าไปแล้วในหลายๆด้าน พวกเขาก็พากันหวาดผวา กระทั่งระส่ำระสาย สถานภาพความเป็นผู้นำการขับเคลื่อนของสังคมโลกเริ่มคลอนแคลน นี่กระมังคือที่มาของคำวินิจฉัยของสีจิ้นผิงที่ว่าสังคมโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบร้อยปี และจีนก็ไม่ได้ละเลยกับโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นนี้แต่ประการใด แสดงว่าในสายตาของคณะผู้นำจีน อารยธรรมอุตสาหกรรมที่นำโดยทุนนิยมตะวันตกได้อ่อนล้าลงมากแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำพาสังคมโลกไปสู่อนาคตที่ดีกว่าอีกต่อไป ตรงกันข้าม จีนที่กำลังสร้างความทันสมัยให้แก่ตนเองอย่างทั่วด้าน กลับกลายเป็นดาวเด่นของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก…”
อารยธรรมมนุษยชาติรูปลักษณ์ใหม่ 人类文明新形态
จีนกำลังทำสิ่งที่ประเทศอื่นไม่คิดทำและทำไม่ได้ นั่นคือการสร้างอารยธรรมยุคใหม่ที่ก้าวล้ำไปอีกก้าวหนึ่งของมวลมนุษยชาติ
ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า เส้นทางวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษยชาติได้ผ่านมาแล้วสองช่วงใหญ่ คือ อารยธรรมเกษตรกรรม และอารยธรรมอุตสาหกรรม จีนเป็นอารยธรรมเกษตรกรรมสำคัญสายหนึ่งของโลก มีการปกครองอย่างเป็นระบบสืบเนื่องกันมาอย่างยาวนานหลายพันปี ขณะที่อารยธรรมอุตสาหกรรมเริ่มต้นและเบ่งบานขึ้นที่ยุโรปตะวันตก แล้วแผ่กระจายไปทั่วทั้งโลกในห้วงสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
เอกลักษณ์ของอารยธรรมอุตสาหกรรมก็คือทุนเป็นใหญ่ กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของสังคมโลก รวมทั้งเป็นผู้กำหนดกฎกติกาการไปมาหาสู่กันในระดับทั้งโลก ซึ่งปัจจุบันนี้มีกลุ่มประเทศ G7 (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดา) เป็นตัวแทน
สภาวะดังกล่าวจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกนานหากไม่มีจีนที่ปัจจุบันนี้ได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าพวกเขาเลยในแทบทุกด้าน
ด้วยความเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม ทำให้จีนในสายตาของกลุ่มประเทศ G7 เป็นสิ่งแปลกแยก และยิ่งจีนพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถไล่ทันและแซงหน้าไปแล้วในหลายๆ ด้าน พวกเขาก็พากันหวาดผวา กระทั่งระส่ำระสาย สถานภาพความเป็นผู้นำการขับเคลื่อนของสังคมโลกเริ่มคลอนแคลน
นี่กระมังคือที่มาของคำวินิจฉัยของ สี จิ้นผิง ที่ว่าสังคมโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบร้อยปี และจีนก็ไม่ได้ละเลยกับโอกาสที่กำลังเกิดขึ้นนี้แต่ประการใด
ด้านหนึ่งจีนมุ่งมั่นพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่งจีนก็สรุปบทเรียนและยกระดับความรับรู้ใหม่ๆ เพื่อปรับแนวทางนโยบายและแผนการพัฒนายกระดับมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้นเป็นลำดับ สามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมให้แก่ประเทศจีน และความอยู่ดีกินดีของคนจีนถ้วนหน้า
ยิ่งกว่านั้น คณะผู้นำจีน โดยปัจจุบันก็คือ สี จิ้นผิง ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ นำเสนอทฤษฎีชี้นำใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตอันสดใสของประเทศและประชาชนจีน เช่นการสร้างความทันสมัยแบบจีน(中国式现代化) และการสร้างอารยธรรมแบบใหม่ให้แก่มวลมนุษยชาติ (人类文明新形态)
แสดงว่า ในสายตาของคณะผู้นำจีน อารยธรรมอุตสาหกรรมที่นำโดยทุนนิยมตะวันตกได้อ่อนล้าลงมากแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะนำพาสังคมโลกไปสู่อนาคตที่ดีกว่าอีกต่อไป ตรงกันข้าม จีนที่กำลังสร้างความทันสมัยให้แก่ตนเองอย่างทั่วด้าน กลับกลายเป็นดาวเด่นของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก กระแสความนิยมและเชื่อมั่นในแนวทางการสร้างความทันสมัยแบบที่จีนกำลังดำเนินอยู่นั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงและความเรียกร้องต้องการของประชาชนมากที่สุด
จึงไม่แปลกที่จีนได้เริ่มนำเสนอแนวคิดสร้างอารยธรรมยุคใหม่แก่ชาวโลกแล้ว เช่นข้อเสนอริเริ่มการสร้างอารยธรรมร่วมกันทั้งโลก(全球文明倡议)ควบคู่ไปกับข้อเสนอริเริ่มอื่นๆมากมาย ที่เปิดทางให้ประเทศต่างๆทั่วโลกเข้ามาร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ที่อารยธรรมทุนนิยมไม่สามารถทำได้