“ปม นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ จี้ขอให้คณะกรรมาธิการการตํารวจ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบที่โรงพยาบาลตํารวจ ชั้น 14 ว่า นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดพักรักษาตัวที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ ศึกษาหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชน สร้างความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม ; ล่าสุด คณะกรรมาธิการตำรวจ ส่งหนังสือเชิญ นายวัชระ ร่วมประชุมโดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ; เมื่อคนใหญ่โต มีอำนาจกำลังหลับหู หลับตา อ้ำอึ้ง ไม่ยอมตอบข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ ทุกวันนี้ประชาชนคนธรรมดาอย่าง นายวัชระ เพชรทอง สส.นอกสภา จึงต้องรับบทบาท “มือปราบอธรรม” พวกท่านไม่รู้สึกอายบ้างหรือครับ…?…”
จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการตํารวจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบที่โรงพยาบาลตํารวจ ชั้น 14 ว่า นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดพักรักษาตัวที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่า
ตามที่สื่อมวลชนได้นําเสนอข่าวนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดได้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตํารวจตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 นั้น ขณะนี้สังคมไทยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร ณ โรงพยาบายตํารวจชั้น 14 ว่ามีตัวตนมาพักรักษาตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2506 จนถึงปัจจุบันจริง หรือไม่ มีบัตรนักโทษหรือไม่ เนื่องจากพี่น้องประชาชนไม่เชื่อว่ามีอาการเจ็บป่วยจริง จึงขอให้คณะกรรมาธิการตํารวจ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาดําเนินการตรวจสอบดังนี้
- หาข้อเท็จจริงและไปตรวจสถานที่จริง ณ โรงพยาบาลตํารวจ ชั้น 14 ว่านายทักษิณฯ นอน รักษาพยาบาลอยู่จริงหรือไม่ โดยตรวจสอบกล้องวงจรปิดทุกชั้นทุกตัวของโรงพยาบาลตํารวจและไฟล์ บันทึกภาพเสียง หากไม่มีการบันทึกขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
- ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้และแถลงข้อเท็จจริงให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไปโดยเร็วที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่และกฎหมาย หากผลเป็นประการใด โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 คณะกรรมาธิการการตํารวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญ นายวัชระ เพชรทอง เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการตํารวจ โดยชี้แจงในหนังสือว่า เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ซึ่งรายละเอียดในหนังสือดังกล่าวระบุว่า
ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการการตํารวจ สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรณีสังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาด พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตํารวจ ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน หรือไม่ ความละเอียด แจ้งแล้ว นั้น
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้กําหนดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว และเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงขอเชิญท่าน ซึ่งร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ เพื่อมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ N 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา จํานวน 20 ชุด และไฟล์นําเสนอ (ถ้ามี)
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอเชิญท่านเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ ตามกําหนดวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าวข้างต้นด้วย และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริง เท็จอย่างไร รักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ หายแล้ว กลับเข้าสู่เรือนจำหรือไม่อย่างไร เป็นข้อเท็จจริงที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึง กระทรวงยุติธรรมต้องตอบข้อสงสัยของประชาชน ว่ามีการดำเนินการต่อนักโทษดังกล่าว ถูกต้องและเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่..?
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า นักโทษคนอื่นๆ รวมถึงญาติพี่น้องประชาชน ต่างพากันแคลงใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เสียงสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติดังกระหึ่มแทบทุกช่องทางสื่อสาร
แถมล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 สร้างความกังขาให้กับประชาชนว่า ประกาศดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ต่อ นช.ทักษิณ หรือไม่ เพราะดันประจวบเหมาะกับช่วงที่ นช.ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้ากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สิ่งต่างๆ เหล่านี้กึกก้องในหัวใจคนไทย ที่คนใหญ่โต มีอำนาจกำลังหลับหู หลับตา อ้ำอึ้ง ไม่ยอมตอบข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้ ทุกวันนี้ประชาชนคนธรรมดาอย่าง นายวัชระ เพชรทอง สส.นอกสภา จึงต้องรับบทบาท “มือปราบอธรรม” พวกท่านไม่รู้สึกอายบ้างหรือครับ…?