เมื่อเร็วๆ นี้ หอการค้าไทย-จีน ได้ทำการสำรวจจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร และกรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน 430 คน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2566
คำถามแรกเริ่มต้นด้วยความรูสึกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในด้านการบริโภคและการลงทุนในปี 2566 พบว่าร้อยละ 60.5 มองว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 17.2 ของผู้ถูกสำรวจ มีความมั่นใจพอประมาณ และมีความมั่นใจมากตามลำดับที่เศรษฐกิจไทยจะดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี
คำถามต่อมาได้สอบถามถึงโอกาสและอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทย โดยพิจารณาจากการส่งออกและปัญหาของหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าและบริการของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่มีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นใจต่อการส่งออกของไทยในปี 2567 พบว่า ร้อยละ 74.4 คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่การส่งออกปี 2567 จะขยายตัวตามเป้าร้อยละ 3.6 และ ร้อยละ 11.7 ลงความเห็นว่าเป็นไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ในด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ร้อยละ 67.3 เห็นด้วย และยังมีร้อยละ 16.7 เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ที่มองว่าหนี้ครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
ในด้านคำถามเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ นักธุรกิจจีนร้อยละ 55.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ให้ความเห็นว่าการลงทุนโครงสร้างระบบคมมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) นั้น มีความสำคัญมาก และร้อยละ 21.9 ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 3.7 ให้ความสำคัญต่อโครงการน้อย ขณะที่การลงทุนของจีนในประเทศไทยช่วงสองปีที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มการลงทุนของนักธุรกิจจีนในไทยปี 2567 ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้ง อาทิสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามรบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พบว่า ร้อยละ 63.5 คิดว่าการลงทุนจากจีนนั้นยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 16.7 คิดว่าการลงทุนยิ่งเพิ่มขึ้นมากในปี 2567 มีเพียงส่วนน้อยที่คิดว่าการลงทุนจากจีนจะชะลอตัวลง
ส่วนคำถามเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในไทย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากในปี 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 11.8 มีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนใช้อยู่แล้ว และร้อยละ 18.8 กำลังวางแผนที่จะซื้อรถไฟฟ้าของจีน ขณะที่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ของจีนมากถึงร้อยละ 27.3 ส่วนร้อยละ 5.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทั้งรถไฟฟ้าจีนและไม่ใช่ของจีนอยู่ในครอบครอง ร้อยละ 31.1 ยังคงใช้รถยนต์เครื่องสันดาปต่อไป โดยที่ยังไม่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า คำถามต่อเนื่องคือจีนจะเลือกประเทศใดเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในอาเซียน ร้อยละ 81.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่นใจว่าจีนจะเลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้า ร้อยละ 6.3 คิดว่าน่าจะเป็นเวียดนาม สำหรับมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้นเป็น ร้อยละ 5.9 และ 5.4 ตามลำดับ
สรุปก็คือมุมมองของนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมลงทุนต่อเนื่องในปี 2567