การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2567 หมายถึงการกำหนดอนาคตของชาวไต้หวันที่มีต่อจีนและสถานการณ์ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน โดยเฉพาะ 2 แคนดิเดต โหวโหย่วอี๋ นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคฝ่ายค้าน ก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ที่มีจุดยืนส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีน และ เคอเหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรค TPP (Taiwan People’s Party) ที่เน้นประนีประนอม และต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน
สำหรับ “โหว โหย่วอี๋” นายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป จากพรรคก๊กมินตั๋ง ถือเป็นพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมของจีนที่มีรากฐานมั่นคงในไต้หวัน มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ โหว โหย่วอี๋ เคยรับราชการตำรวจ ไต่เต้าจนได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจ ก่อนหันมาสนใจการเมืองในปี 2010 และกลายเป็นนายกเทศมนตรีของนิวไทเป ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของไต้หวันในปี 2018 ก่อนจะได้รับเลือกอีกครั้งอย่างถล่มทลายในปี 2022 ทำให้เขาเป็นตัวเลือกของก๊กมินตั๋งที่จะทวงคืนตำแหน่งผู้นำไต้หวันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมา 8 ปี โดยครั้งนี้ได้ส่ง “ไล่ ชิงเต๋อ” รองประธานาธิบดี ลงชิงชัย
“หลังผมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ผมจะทำงานอย่างหนัก เพื่อรับประกันเสถียรภาพและสันติภาพบนช่องแคบไต้หวัน” โหวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน พร้อมชี้แจงว่าการสื่อสารและแลกเปลี่ยนกับจีนคือสิ่งที่ต้องทำ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเพิกเฉยที่จะทำ และนั่นเป็นสาเหตุที่อันตรายครั้งใหญ่จะคืบคลานมาสู่ช่องแคบไต้หวัน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนกลายมาเป็นศูนย์กลางของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เนื่องจากมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า จีนอาจรุกรานไต้หวัน เนื่องจากจีนมองว่าเกาะไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน โหว เน้นย้ำแนวทางต่อต้านการประกาศเอกราชของไต้หวัน และสนับสนุนนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน ซึ่งเป็นหลักการปกครองที่รัฐบาลปักกิ่งใช้กับฮ่องกงและมาเก๊า
ผู้สมัครอีกคนที่ชูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่เป็นนโยบายหาเสียงคือ เคอ เหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป จากพรรค TPP ที่แม้จะเป็นพรรคขนาดเล็ก แต่การนำเสนอนโยบายดังกล่าว ทำให้คะแนนนิยมของเขาพุ่งขึ้นมาอยู่ในกลุ่มตัวเต็ง ด้วยความพยายามนำสันติภาพและความสมดุลมาสู่ช่องแคบไต้หวัน โดยชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงระหว่างรัฐบาลไทเปกับรัฐบาลปักกิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกลับฝักใฝ่รัฐบาลวอชิงตัน เขาวิจารณ์พรรค DPP ว่ากำลังคุกคามไต้หวันด้วยการเป็นผู้สนับสนุนสงคราม ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งก็ดูเหมือนจะเอนเอียงเข้าหารัฐบาลปักกิ่งมากเกินไป ขณะที่พรรค TPP ของเขา แม้จะเน้นความประนีประนอมกับแผ่นดินใหญ่ แต่ก็มีความสมดุลด้านนโยบายระหว่างประเทศ
หาก “โหวโหย่วอี๋” หรือ “เคอเหวินเจ๋อ” คนใดคนหนึ่งได้รับความไว้วางจากจากประชาชนชาวไต้หวันให้เป็นผู้นำคนใหม่ ความสัมพันธ์ของช่องแคบไต้หวันย่อมออกมาในเชิงบวก แต่หาก “ไล่ ชิงเต๋อ” จากพรรค DPP เข้าวิน ก็มีโอกาสที่ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีนจะระอุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้