วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนโค้งสุดท้ายเลือกตั้งไต้หวัน 2 พรรคคู่แข่งหลักดวลนโยบายจีนเดือด

Related Posts

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งไต้หวัน 2 พรรคคู่แข่งหลักดวลนโยบายจีนเดือด

ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับจีนยังคงเป็นประเด็นหลักประเด็นร้อนในการหาเสียงเลือกตั้งช่วงโค้งสุดท้ายของไต้หวัน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 13 มกราคมนี้ ถูกจับตาว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ชี้ชะตาอนาคตของไต้หวัน ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากจีนในการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะไต้หวัน ทั้งการชี้ว่าไต้หวันว่ามีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการเลิกลดภาษีศุลกากรบางส่วน ตลอดจนการที่กองทัพจีนส่งเครื่องบินบินเหนือช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งจีนและพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ต่างเน้นย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างสงครามหรือสันติภาพ โดยพรรค KMT โจมตีแกนนำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ว่าเป็นพวกสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช ส่งผลให้ไต้หวันตกอยู่ในอันตราย 

ขณะที่พรรค DPP ไม่น้อยหน้า สวนกลับแรงๆ ว่า พรรคก๊กมินตั๋งทำตัวเป็นเบี้ยของปักกิ่ง ดีแต่พูดเป็นนกแก้วนกขุนทองตามปักกิ่งว่า DPP คุกคามสันติภาพ ทั้งๆ ที่ผ่านมาประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน และไล่ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของพรรค DPP เคยเสนอที่จะเจรจากับจีนหลายครั้ง นอกจากนี้ ไล่ยังยืนยันด้วยว่า เขาจะยังคงรักษาสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (Status Quo) ระหว่างจีนกับไต้หวันเอาไว้ และไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนชื่อทางการของไต้หวัน ซึ่งก็คือสาธารณรัฐจีน (Republic of China) แต่ข้อเสนอของไช่และไล่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากปักกิ่งเชื่อว่าทั้งคู่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน 

@suebjarkkhao

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งไต้หวัน 2 พรรคคู่แข่งหลักดวลนโยบายจีนเดือด

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

“เขาขอบอกกับพวกคุณทุกคนว่า นานาประเทศต่างยอมรับว่า ความเสี่ยงมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่ไต้หวัน ไม่ใช่ DPP และไม่ใช่ไล่ชิงเต๋อ” เซียวบีคิม (Hsiao Bi-khim) คู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของไล่ กล่าวอย่างดุเดือดในระหว่างการดีเบตกับจ่าวชอวกง (Jaw Shaw-kong) ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรค KMT ซึ่งมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ (1 มกราคม) ที่ผ่านมา

ด้าน จ่าว ซึ่งในอดีตเคยเป็นบุคคลในแวดวงสื่อ กล่าวกับ เซียว อดีตเอกอัครราชทูตโดยพฤตินัยของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ว่า ไต้หวันจวนเจียนจะเข้าสู่สงครามเต็มทีนับตั้งแต่ที่พรรค DPP เข้ามาบริหารประเทศในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

“มันคือความจริง ทั้งโลกกำลังพุ่งความสนใจมาที่ไต้หวัน แต่จริงๆ แล้วพวกเขาสนใจอะไรกัน ไม่ว่าจะเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวันหรือไม่ อะไรทำให้มาถึงจุดนั้น นโยบายของ DPP ไงละ” เขากล่าว โดยพรรค KMT ชูนโยบายคัดค้านการประกาศเอกราชของไต้หวัน พร้อมระบุว่า ทางพรรคจะส่งเสริมการป้องกันตนเองของไต้หวัน ขณะเดียวกันก็จะกลับมามีส่วนร่วมกับจีนอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมา KMT ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่ได้สนับสนุนปักกิ่งก็ตาม

โหวโหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง กล่าวว่า ความพยายามป้ายสีเขาและพรรค KMT ให้เป็น ‘สีแดง’ ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสร้างภาพว่า KMT สนับสนุนจีนนั้น ถือเป็นการใส่ร้าย ทำให้พรรคเสื่อมเสีย

“ระหว่างการเลือกตั้ง ผมถูกป้ายสีแดงทุกวัน และหาว่าผมสนับสนุนจีน แต่สันติภาพ การแลกเปลี่ยน และการพูดคุยเจรจาข้ามช่องแคบไต้หวันเป็นสิ่งที่ควรทำมิใช่หรือ” เขากล่าวในการดีเบตกับไล่

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทั้งสองพรรคเห็นตรงกันคือ มีเพียงคนไต้หวันเท่านั้นที่สามารถตัดสินอนาคตของตนเอง

ด้านผลสำรวจคะแนนนิยมบางสำนักเผยว่า โหวโหย่วอี๋จาก KMT มีคะแนนตามหลังไล่ชิงเต๋อจาก DPP เพียงเล็กน้อย

โดยโพลของ TVBS ซึ่งจัดทำเมื่อวันจันทร์เปิดเผยว่า ไล่มีคะแนนนำอยู่ที่ 33% โหวตามมาติดๆ ที่ 30% และโกเหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเปจากพรรคขนาดเล็กอย่าง พรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ 22% ขณะที่โพลของ ETtoday ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันอังคารชี้ว่า ไล่นำอยู่ด้วยคะแนน 38.9% ตามด้วยโหว 35.8% และโก 22.4%

นอกจากเลือกประธานาธิบดีแล้ว การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ยังมีการเลือกสภานิติบัญญัติด้วย ซึ่งปัจจุบัน DPP ครองเสียงข้างมาก อย่างไรก็ดี โพลชี้ว่าไม่น่าจะมีพรรคใดที่ได้ที่นั่งเกิน 50% ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับพรรคอื่นๆ เพื่อผลักดันกฎหมายให้ผ่านในสภาต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts