ข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 เริ่มต้นเจรจารอบที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี 2022 โดยจีนและอาเซียนร่วมประกาศการเจรจาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งสองฝ่ายตกลงว่าการเจรจาจะครอบคลุมการค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ที่ครอบคลุม ทันสมัย รอบด้าน และได้ประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น
หน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงลึกในเรื่องกฎระเบียบ ขั้นตอน การจัดการองค์กร และแผนงานของการเจรจา รวมถึงจัดทำตารางเวลาและแผนงานสำหรับการเจรจาติดตามผล
ล่าสุด สำนักข่าวซินหัว รายงาน (2 ก.พ.) หวังโซ่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผยว่า จีนยินดีทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด และยินดีจะขยายความร่วมมือเชิงปฏิบัติในธุรกิจเกิดใหม่ เช่น การค้าสินค้าขั้นกลาง การค้าดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน
หวัง ซึ่งร่วมพิธีเปิดการเจรจารอบที่ 5 ในนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันพุธ (31 ม.ค.) กล่าวว่าจีนมุ่งยกระดับการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนร่วมกับอาเซียนเพิ่มเติมบนพื้นฐานของข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่มีอยู่ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 รอบที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-2 ก.พ.2024 โดยมีเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเกือบ 400 คน
สำหรับประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดทำเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (eWTP Thailand Duty Free Zone) ณ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเป็นเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ที่อำนวยความสะดวกในด้านการนำเข้าและส่งออกครบวงจร ให้บริการประกอบด้วย ด้านศุลกากร ด้านการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ด้านการนำเข้าและส่งออก ที่สามารถรองรับการให้บริการในรูปแบบการเช่าพื้นที่เพื่อเป็นโกดังเก็บสินค้ารอนำเข้าและส่งออกในรูปแบบคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) และรอการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Stock first, order later) ที่ออกแบบการทำงานให้สามารถส่งสินค้าถึงผู้ประกอบการปลายทางได้ภายใน 14 วัน โดยมีระบบ e-Seal เพื่อตรวจสอบการเดินทางของสินค้าในรูปแบบออนไลน์ – Public Service Platform (PSP)
โครงการดังกล่าวมีนโยบายที่จะให้ไทยได้ใช้ประโยชน์จาก eWTP ของจีนเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันจีนมี eWTP อยู่ 10 แห่งทั่วโลก โดยมี 4 แห่งในจีน ได้แก่ เมืองหางโจวและเมืองอี้อูในมณฑลเจ้อเจียง มณฑลไห่หนาน และฮ่องกง ส่วนในประเทศอื่นๆ ได้มีการจัดตั้ง eWTP ในอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เบลเยียม เม็กซิโก เอธิโอเปีย และรวันดา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีนได้เพิ่มมากขึ้น
สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมุ่งเน้นเพื่อยกระดับความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการขยายตลาดทั้งระดับประเทศและระดับโลกด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างขีดความสามารถทางวิชาการ ร่วมมือพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ส่งเสริมกลไกด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน และด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ รวมทั้งศึกษาแง่มุมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการสร้างสภาพแวดล้อมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลง FTA เวอร์ชั่น 3.0 นั่นเอง