“…การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีข้อสังเกตถึงความไม่เหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนๆ ตรงที่จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่โลกตะวันตก แต่อยู่ที่จีน ทั้งเทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีพลังงานใหม่ที่มีจุดหมายปลายทางที่การสร้างดวงอาทิตย์เทียม และดาวรุ่งดวงใหม่ปัญญาประดิษฐ์ จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกครั้งใหญ่ ได้เคลื่อนตัวเรียงแถวเชื่อมโยงตนเองบนฐานใหญ่เดียวกันคือจีนอย่างชัดเจน ด้วยองค์ประกอบฐานอุตสาหกรรมการผลิตครบวงจร ตลาดขนาดมหึมาที่มีอำนาจซื้อสูง และเครือข่ายการค้าครอบคลุมไปทั่วโลก เพราะจีนได้ลงมือทำก่อนประเทศอื่นใดในโลก ชาวชนบทจีนขับรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไปนาไปไร่ที่ทำการเพาะปลูกด้วยระบบอัจฉริยะจะกลายเป็นภาพชินตา ภาพรวมที่มองเห็นก็คือ ทั่วทั้งสังคมโลกที่มีจีนเป็นแกนกลาง ต่างเป็นเหตุปัจจัยขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายร่วมกันนั้นคือชีวิตที่ผาสุกในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สะอาด ธรรมชาติที่สวยงาม และสังคมอัจฉริยะ…”
สะอาด สวยงาม อัจฉริยะ 清结 美丽 智能
เมื่อพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีข้อสังเกตถึงความไม่เหมือนกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนๆตรงที่จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่ที่โลกตะวันตก แต่อยู่ที่จีน รวมทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ จะไม่จำกัดอยู่ในกรอบของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการปฏิวัติทางเศรษฐกิจสังคมคู่ขนานไปด้วยแนวคิด “ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง” 以人民为中心 คือคนส่วนใหญ่จะได้รับผลโดยตรงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ปรากฏออกมาในรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ การบริการแบบใหม่ ในตลาดที่เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งโลก ด้วยความสะดวกรวดเร็วของระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ ที่มีความเป็นบูรณาการสูง ปิดช่องโหว่ของการบริการซ้ำซ้อนได้จนหมดสิ้น เนื่องเพราะความก้าวหน้าของระบบเอไอระดับสูงที่เพียบพร้อมด้วยระบบคำนวณควอนตัม ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้โดยไม่มีจุดบอด
การกระจายสินค้าและบริการเข้าสู่สังคมที่มีผู้บริโภคเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะปรากฏเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากอดีต
ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 การฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เมื่อการผลิตขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ การคมนาคมทั้งทางน้ำทางบก (รถไฟ) ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ส่งให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจโลก
ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดการนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้าอย่างกว้างขวางพร้อมๆ กันทั้งในเยอรมนีและสหรัฐฯ เกิดการประดิษฐ์เครื่องยนต์สันดาปภายในชนิดต่างๆ ติดตั้งในรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน ส่งให้สหรัฐฯ กับเยอรมนีผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก
ผลคือประเทศมหาอำนาจตะวันตกแก่งแย่งกันครองโลกจนเกิดสงครามโลกขึ้นติดๆ กันถึงสองครั้งในช่วงเวลาสามสิบปี (คศ.1914-1945)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เริ่มดำเนินมาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง นำโดยการปฏิวัติการสื่อสารที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ เกิดกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดทั้งทางด้านพลังงาน การสำรวจอวกาศ เทคโนโลยีพันธุกรรม ฯลฯ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลกโดยรวมอย่างลึกซึ้ง โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ
ถึงปลายศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 21 กระบวนการนวัตกรรมที่นำโดยเทคโนโลยียุคใหม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก ไม่เว้นในประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย สิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก็ได้กระจายตัวไปในขอบเขตทั้งโลก ด้วยระบบเชื่องโยงของอินเทอร์เน็ตดิจิตอลสมรรถนะสูง
อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ได้นำร่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างชัดเจน ทั้งเทคโนโลยีควอนตัม เทคโนโลยีพลังงานใหม่ที่มีจุดหมายปลายทางที่การสร้างดวงอาทิตย์เทียม และดาวรุ่งดวงใหม่ปัญญาภประดิษฐ์
ซึ่งทั้งสามตัวเอกที่จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายรองรับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลกโดยรวม ได้เคลื่อนตัวเรียงแถวเชื่อมโยงตนเองบนฐานใหญ่เดียวกันคือจีนอย่างชัดเจน
ด้วยองค์ประกอบที่จำเป็น เช่น ฐานอุตสาหกรรมการผลิตครบวงจร ตลาดขนาดมหึมาที่มีอำนาจซื้อสูง และเครือข่ายการค้าครอบคลุมไปทั่วโลก ทำให้กระบวนการนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีใหม่ล้ำยุคของจีน ดำเนินไปได้อย่างเข้มข้น
ต้นแบบระบบกระจายความเจริญยุคใหม่ไปสู่คนส่วนใหญ่ของโลกจึงหนีไม่พ้นประเทศจีน เพราะจีนได้ลงมือกระทำการลักษณะนี้แล้วก่อนประเทศอื่นใดในโลก ชาวชนบทจีนขับรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไปนาไปไร่ที่ทำการเพาะปลูกด้วยระบบอัจฉริยะจะกลายเป็นภาพชินตา ขณะที่ผู้คนในที่อื่นๆ ก็ดำเนินชีวิตไปในท่ามกลางการพัฒนาก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจ ในท่ามกลางขุนเขา ลุ่มน้ำ ชายฝั่งทะเลและที่อื่นๆ ที่เพียบพร้อมไปด้วยความสะดวก ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ฯลฯ
การปรากฏขึ้นของวิถีชีวิตแบบใหม่ที่สมบูรณ์พร้อมเช่นนี้ กำลังปรากฏขึ้นในสังคมจีน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มตื่นตัว พยายามปรับแนวคิดทิศทางไปในแนวเดียวกันกับประเทศจีน
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะก่อให้เกิดแรงดึงและผลักมากขึ้นเรื่อยๆ กระตุ้นการพัฒนาก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต การศึกษาวิจัยและการนวัตกรรมแรงและเร็วขึ้น
ภาพรวมที่มองเห็นก็คือ ทั่วทั้งสังคมโลกที่มีจีนเป็นแกนกลาง ต่างเป็นเหตุปัจจัยขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายร่วมกัน
นั้นคือชีวิตที่ผาสุกในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สะอาด ธรรมชาติที่สวยงาม และสังคมอัจฉริยะ