“…ปรากฏการณ์ที่รถยนต์ไฟฟ้าจีนยาตราทัพเข้าสู่ตลาดโลก ทำให้อีลอน มัสก์เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้ายุคบุกเบิกบอกว่า ถ้าไม่มีการขัดขวางจากรัฐบาลประเทศต่างๆ รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะครองโลกอย่างรวดเร็ว รถยนต์ไฟฟ้าเทสล่าของเขาเอง เมื่อทำการผลิตในสหรัฐฯ ทำได้เพียงปีละสี่หมื่นคัน ขาดทุนย่อยยับ ทำท่าจะเจ๊งมิเจ๊งแหล่ แต่เมื่อเขาไปลงทุนทำโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ เพียงปีเดียวก็ขายรถได้ร่วมสี่แสนคัน ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในพริบตา ผลิตภัณฑ์ใหม่และตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่กลายเป็นของประเทศจีน สองเงื่อนไขนี้ไม่มีที่อื่นใดในโลก โดยมีอีกสองปัจจัยสำคัญสนับสนุน นั่นคือ 1.ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ และ 2.ซูเปอร์แบตเตอรี หรือแบตเตอรี่แบบแข็ง (โซลิตสเตตแบตเตอรี่) แถมยังมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีเยอรมันกำลังจะนำทัพผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น บีเอ็มดับลิว เบ๊นซ์ ไปจีนเพื่อเจรจาร่วมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเช่นเอไอ ใช้แบตเตอรี่แข็งที่ขับเคลื่อนอัจฉริยะ ตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือห่วงโซ่อุปทานที่สามารถรองรับการผลิตล้ำสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้มีพร้อมแล้วในประเทศจีน…”
(ตอน) รถไฟฟ้าผ่ายุค 划时代电动车
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 กำลังดำเนินไปด้วยอัตราเร่งเร็วขึ้นและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เข้าไปมีบทบาททางการผลิตมากขึ้นในฐานะปัจจัย กำหนดของผลิตถัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในตลาด ขณะที่เมื่อผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดแล้ว ฉับพลันตลาดที่สะท้อนอนาคตก็เปิดรับและกลายเป็นสินค้านำโลกอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่น่าอัศจรรย์
ปรากฏการณ์ที่รถยนต์ไฟฟ้าจีนยาตราทัพเข้าสู่ตลาดโลก ทำให้ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้ายุคบุกเบิกบอกว่า ถ้าไม่มีการขัดขวางจากรัฐบาลประเทศต่างๆ รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะครองโลกอย่างรวดเร็ว
เป็นที่น่าสังเกตว่า รถยนต์ไฟฟ้าเทสล่าของเขาเอง เมื่อทำการผลิตในสหรัฐฯ ทำได้เพียงปีละสี่หมื่นคัน ขาดทุนย่อยยับ ทำท่าจะเจ๊งมิเจ๊งแหล่ แต่เมื่อเขาไปลงทุนทำโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ เพียงปีเดียวก็ชายรถได้ร่วมสี่แสนคัน ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในพริบตา
นี่คือความน่าอัศจรรย์ของตลาดจีน ในการกำหนดอนาคตของผลิตภัณฑ์ใหม่ หากมิใช่ตลาดดั้งเดิมเช่นสหรัฐฯ หรือ อียู
ผลิตภัณฑ์ใหม่และตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่กลายเป็นประเทศจีน สองเงื่อนไขนี้ไม่มีที่อื่นใดในโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อวงการอุตสาหกรรมรถยนต์จีนเบนเข็มมาทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงสามารถขยายการผลิตได้อย่างรวดเร็ว และสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกแบบ “ยาตราทัพ” และจะดำเนินไปแบบสายฟ้าแลบ โดยมีอีกสองปัจจัยสำคัญสนับสนุน นั่นคือ 1.ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ และ 2.ซูเปอร์แบตเตอรี หรือแบตเตอรี่แบบแข็ง (โซลิตสเตตแบตเตอรี่)
ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะในรถยนต์ไฟฟ้าจีน คือจุดขายสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อดังๆ ของจีน เช่น บีวายดี เสียวหมี่ ขณะที่บริษัทผลิตรถยนต์เซี่ยงไฮ้ (SAIC) ก็มีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่แข็งรุ่นแรกของโลกเข้าตลาดในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
พร้อมกันนั้น ก็มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีเยอรมันกำลังจะนำทัพผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น บีเอ็มดับลิว เบ๊นซ์ เป็นต้น ไปจีนเพื่อเจรจาร่วมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่แบบแข็งในประเทศจีน
จากนี้เราพอจะมองเห็นรางๆ แล้วว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเช่นเอไอ ผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่แข็งที่ขับเคลื่อนอัจฉริยะ ตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุดคือห่วงโซ่อุปทานที่สามารถรองรับการผลิตล้ำสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้มีพร้อมแล้วในประเทศจีน
มองไปอีกชั้นหนึ่ง ในเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักแม้แต่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และการผลิตชิพชั้นนำก็จะต้องใช้ไฟฟ้ามหาศาล แล้วใครล่ะจะเป็นผู้นำด้านนี้?
คำตอบไม่ยาก เพราะจีนประกาศชัดแล้วว่า จะสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันได้ภายในปี คศ.2049 นั่นคือมนุษย์เราจะมีดวงอาทิตย์เทียมใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่จำกัด หนำซ้ำจีนยังจะส่งคนไปลงปฏิบัติการบนผิวดวงจันทร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และมีแผนขุดเอาสารฮีเลียม 3 ที่มีมากบนดวงจันทร์มาเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าแบบนิวเคลียร์ฟิวชั่น บนโลก รวมทั้งตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบนิวเคลียร์ฟิวชั่นบนดวงจันทร์และนอกโลกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ปัญหาเรื่องขาดแคลนไฟฟ้าจะไม่เกิดขึ้นเลยในอนาคต
ก่อนจบบทวิเคราะห์นี้ ผู้เขียนรู้สึกอุ่นใจอยู่ตรงที่ ทั้งโครงการสำรวจดวงจันทร์และการสร้างดวงอาทิตย์เทียมไทยก็ได้ร่วมกับจีนอย่างใกล้ชิด คาดว่าไทยน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ได้ โดยไม่ได้ตั้งใจ
ไขคำจีน