“…เยอรมนีเลือกที่จะคบค้ากับจีน ไม่เอาด้วยกับการแยกขั้วตัดจีนออกไปจากวงจรการค้าการลงทุนตามแนวกำหนดของวอชิงตัน ท่าทีของเยอรมนีสะท้อนทิศทางลมการค้าการเมืองโลก ว่าถึงที่สุดแล้วอียูก็จะอยู่กับจีน ค้าขายลงทุนกับจีน ไปมาหาสู่กับจีน คาดว่าในห้วงต่อจากนี้ไป จะมีคณะผู้นำประเทศต่างๆ ของอียูทะยอยยกโขยงกันเดินทางไปปักกิ่ง พร้อมกับไปเปิดหูเปิดตาดูเมืองอื่นๆ ที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองยุคใหม่ของจีน อย่างนี้สหรัฐฯ ที่พยายามระดมพลปิดล้อมจีน แยกขั้วจีน ลดการเชื่อมประสานกับจีนก็สิ้นหวังอีกครั้ง ใครก็ตามที่เอาด้วยกับสหรัฐฯ คงต้องผิดหวังมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป เปรียบได้กับการกระโดดลงเรือที่กำลังจะจม…”
(ตอน) ทางเลือกหนึ่งเดียว 唯一通道
การยกทีมชุดใหญ่ไปเยือนจีนของ นายกฯ โอลัฟ โชลต์ นับเป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนอีกครั้งว่า เยอรมนีเลือกที่จะคบค้ากับจีน ไม่เอาด้วยกับการแยกขั้วตัดจีนออกไปจากวงจรการค้าการลงทุนตามแนวกำหนดของวอชิงตัน
ท่าทีของเยอรมนีสะท้อนทิศทางลมการค้าการเมืองโลก ว่าถึงที่สุดแล้วอียูก็จะอยู่กับจีน ค้าขายลงทุนกับจีน ไปมาหาสู่กับจีน คาดว่าในห้วงต่อจากนี้ไป จะมีคณะผู้นำประเทศต่างๆ ของอียูทะยอยยกโขยงกันเดินทางไปปักกิ่ง พร้อมกับไปเปิดหูเปิดตาดูเมืองอื่นๆ ที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองยุคใหม่ของจีน
ผลการเยือนปรากฏออกมาเป็นความร่วมมือกันมากมายแบบ “ของแท้ของจริง” ปูพื้นฐานสำหรับความร่วมมือต่อไปในอนาคตอันยาวไกล
อย่างนี้สหรัฐฯ ที่พยายามระดมพลปิดล้อมจีน แยกขั้วจีน ลดการเชื่อมประสานกับจีนก็สิ้นหวังอีกครั้ง เพราะถึงขนาดยุให้ยุโรปรบกับรัสเซีย ระเบิดท่อแก๊สรัสเซีย แยกยุโรปจากรัสเซีย เพื่อผูกยุโรปเข้ากับสหรัฐฯ ตลอดไป สำหรับจัดการกับจีนให้เบ็ดเตล็ดในขั้นถัดไป ฯลฯ ก็กลายเป็นหมัน “แห้ว” ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ดูแล้วรูปการขับเคลื่อนของสถานการณ์โลกช่างไม่เป็นใจให้กับกลุ่มผู้บริหารในกรุงวอชิงตันเลย
หันมาดูตะวันออกกลาง อิหร่านทำการโจมตีอิสราเอล แก้เผ็ดที่อิสราเอลทิ้งระเบิดสถานกงสุลของสถานทูตอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย สหรัฐฯ ก็ไม่กล้าออกหน้าสนับสนุนอิสราเอล หนำซ้ำยังตกเป็นลูกไล่ทางการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังของอิสราเอล ไม่เป็นที่เชื่อถือของกลุ่มประเทศอาหรับและมุสลิมทั้งโลก
ตรงข้ามกับจีน ที่ยึดมั่นในความยุติธรรม นำเสนอทางออกที่ไม่มีใครคัดค้านได้ พร้อมกับประสานให้กลุ่มประเทศอาหรับมุสลิมเป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาในย่านตะวันออกกลาง สำหรับการอยู่ร่วมกันกับชาวยิวได้ตลอดกาลนาน
พลังขับเคลื่อนที่อยู่ในมือของกลุ่มประเทศท้องถิ่น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาในแต่ละภูมิภาคแบบ “ถูกจุด” เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องการโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับจีน ผู้ซึ่งได้ออกแบบและนำเสนอเครื่องมือและอุปกรณ์การพัฒนาระดับโลกมากมายหลายขนาน เช่น ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ข้อเสนอริเริ่มการพัฒนาร่วมกันทั้งโลก ข้อเสนอริเริ่มการสร้างความมั่นคงร่วมกันทั้งโลก และข้อเสนอริเริ่มร่วมกันสร้างอารยธรรมร่วมกันทั้งโลก
ซึ่งทั้งหมดนี้ ทุกประเทศสามารถร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันแบ่งปันผลพวงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นี่คือโอกาสใหญ่ของคนทั้งโลก ที่ผู้นำประเทศต่างๆ หรือผู้นำองค์กรระดับโลกทั้งหลายที่ไม่มืดบอดต่างพากันอ้าแขนรับ ดังที่กำลังปรากฏให้เห็นทั่วไปในทุกภูมิภาคของโลก
กระนั้นก็ตาม กระบวนการขับเคลื่อนของความร่วมมือลักษณะนี้ ก็ยังคงหนีไม่พ้นการก่อกวนของสหรัฐฯ ที่จะไม่ยอมให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นจ่าฝูงในสังคมโลกยุคใหม่
ดังกรณีที่พยายามอย่างสุดกำลัง ตะล่อมให้ญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์แสดงบทบาทก่อกวนจีนในย่านทะเลจีนใต้ บวกกับการยื้อมิให้ไต้หวันรวมเข้ากับจีน
ใครก็ตามที่เอาด้วยกับสหรัฐฯ คงต้องผิดหวังมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป
เปรียบได้กับการกระโดดลงเรือที่กำลังจะจม
ดังในกรณีของฟิลิปปินส์ ที่มีผู้นำสายเลือดทุจริตโกงกินบริหารประเทศ ยอมเอาตัวเข้าแลกเพื่ออนาคตที่ริบหรี่ มิใยที่กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังแสดงบทบาทเป็นแกนหลักในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองและผาสุกมั่นคงให้แก่ตนเอง โดยมีจีนเป็นผู้ค้ำประกันอย่างสร้างสรรค์
ไขคำจีน