การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่นครกว่างโจวทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันศุกร์ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น หลังจากมีการดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ปต์ ทำให้การค้าสินค้าเกษตรอย่างผักและผลไม้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2023 จีนนำเข้าผลไม้จากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 1.068 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท) หรือเกือบร้อยละ 60 ของการนำเข้าผลไม้ทั้งหมดของจีน
สำหรับกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม สาเหตุที่เรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำสายนี้ เมื่อไหลผ่านประเทศจีน เรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง และถูกเรียกขานว่าแม่น้ำโขงเมื่อไหลผ่านอีก 5 ประเทศ ก่อนไหลลงสู่ทะเล
ผลไม้มากมายหลายชนิด อาทิ ทุเรียน มะม่วง กล้วย ลำไย มังคุด มะพร้าว จากกลุ่มประเทศตามแนวแม่น้ำโขง ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ขณะที่อินทผลัม ลูกพลับ แพร์ ทับทิม และแคนตาลูปของจีน ได้เข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพที่ยอดเยี่ยม ราคาเอื้อมถึงได้ และรสชาติอร่อย มีทางรถไฟจีน-ลาวช่วยเกื้อหนุนให้ผลไม้จากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเข้าสู่จีนได้เร็วขึ้น
และเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2024 ก็ได้มีการเปิดตัวรถไฟขนส่งสินค้าด่วน 4 ประเทศ (จีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย) ขบวนแรก ออกเดินทางจากสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังมาเลเซีย ถือเป็นก้าวสําคัญในการเชื่อมต่อการค้าระดับพหุภาคี
รถไฟสายนี้ใช้เวลา 5 วัน เดินทางมายังประเทศไทย และ 8 วัน ไปยังมาเลเซีย ช่วยลดเวลาในการขนส่งลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือจากเมืองฉินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน จากเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ลาว-ไทย-มาเลเซีย และประเทศลุ่มน้ำโขงให้เติบโตมากยิ่งขึ้น